บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เคจีไอ(ประเทศไทย)วิเคราะห์หุ้นบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ประมาณ 90% ของธุรกิจ JMT อยู่ในธุรกิจการติดตามหนี้ (15%) และบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ (75%) ซึ่งจะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ทั้งในแง่การเติบโตของพอร์ต และ margin ที่เพิ่มขึ้น
โดยธุรกิจการติดตามหนี้นั้น JMT ให้บริการติดตามหนี้เพิ่มขึ้นในปี 2562 เป็น 4.4 หมื่นล้านบาท (จาก 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2561) และมีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2563 ด้วยการติดตามหนี้ 2.8 หมื่นล้านบาท ใน 1Q63 มีอัตราความสำเร็จในการติดตามหนี้ 5-10% ของหนี้เรียกเก็บ และคิดค่านายหน้าอยู่ในช่วง 10-17% โดยรายได้จากธุรกิจนี้เติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปีเราคาดว่า JMT จะมีหนี้รับจ้างติดตาม 6 หมื่นล้านบาท ในปีนี้และ 6.7 หมื่นล้านบาท ในปีหน้า (โดยใช้สมมุติฐานอัตราค่านายหน้าในการติดตามหนี้ที่ 16.5%)
ถึงเวลากวาดซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ
รายได้จากธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพเร่งตัวขึ้น เติบโต 38% CAGR ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีอัตราผลตอบแทน (yield) อยู่ที่ประมาณ 30% (สูงกว่า BAM 2 เท่า) โดยที่ yield ของ 32% ทั้งนี้ JMT ใช้เงินสด 2.6/3.4 พันล้านบาทซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาในปี 2562/63 (ที่ราคาซื้อประมาณ 10-12% ของมูลหนี้) ทำให้พอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพคงค้างในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8.3 พันล้านบาท(บันทึกตามมูลค่าทางบัญชี) ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงจากสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้มี NPL จากทั้งธนาคารและสถาบันการเงินประเภท non-bank ท่วมเข้าตลาดมากมายในปี 2563/64 ซึ่งจะส่งผลดีกับ JMT เพราะเป็นโอกาสให้เลือกซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้าพอร์ตได้อีกมาในราคาที่ถูกลง เราใช้สมมุติฐานว่าบริษัทจะใช้เงินสด 5-6.5 พันล้านบาท เพื่อซื้อสินทรัพย์ตุนเข้าพอร์ตในปี 2563/2564 สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท โดยไม่มีภาระทางการเงินที่ระดับ D/E <1.5x
ประเมินราคาเป้าหมายที่ 40 บาท
เราประเมินมูลค่าหุ้น JMT โดยมองว่าเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงจะทำให้บริษัทสร้างผลตอบแทนพิเศษได้ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งรายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างมากหลังปี 2559 เมื่อบริษัทเข้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพที่กลายมาเป็น NPL หลังนโยบายรถคันแรก โดยรายได้และกำไรของ JMT โตถึงประมาณ 35% CAGR ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เราใช้ P/E ที่ 35x จาก fully-diluted EPS (ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว) คิดเป็น PEG ที่ 1.0x ซึ่งทำให้ได้ราคาเป้าหมายที่ 40 บาท
ปัจจัยเสี่ยงจาก Dilution ของราคาหุ้นและกำไรจากการแปลงวอร์แรนต์ ซึ่งในอดีตจะเกิดขึ้นทุกๆ สองปี ต้นทุนการตัดจำหน่ายของเงินลงทุนเปลี่ยนแปลงไปทำให้ margin เปลี่ยนและค่าเผื่อการด้อยค่าของหนี้มีหลักประกัน
ที่มา : บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)