“ดับบลิวเอชเอ” ทรานสฟอร์มปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล เพิ่มโอกาสธุรกิจ เล็งจับมือค่ายมือถือทุกราย ดัน 5 จีลงนิคมฯ หนุน “ไอโอที” มั่นใจรัฐบาลเดินหน้าอีอีซีหลังปรับ ครม. หวั่น 5 ปีไม่คืบไทยเสี่ยงถูกเวียดนามแซง
หลักสูตร “Digital Transformation for CEO” โดยความร่วมมือระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็มเอฟอีซี จำกัด (มหาชน) จัดการอบรมเพื่อสร้างความพร้อมของภาคธุรกิจในการรับมือภาวะการดิสรัปจากเทคโนโลยีดิจิทัล
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายหัวข้อ “Turning Crisis into Opportunities : เปลี่ยนวิกฤต กระตุ้นโอกาส” เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 ว่า ในฐานะผู้บริหารและผู้นำองค์กรจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยดับบลิวเอชเอมีการจัดทำแผนเพื่อจะรองรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น
ในขณะที่ปี 2563 มีสัญญาณของความไม่แน่นอนตั้งแต่ต้นปี และเกิดวิกฤติโควิดขึ้นบริษัทก็ให้ความสำคัญหลายๆด้านทั้งในเรื่องของการบริหารกระแสเงินสด การลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำ ขณะเดียวกันก็มองไปที่โอกาสที่จะเกิดขึ้นของธุรกิจในอนาคตซึ่งนำมาสู่การให้ความสำคัญและเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยี และดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น ซึ่งทำควบคู่กันไปในเรื่องการพัฒนาธุรกิจและการพัฒนาคน
ธุรกิจแบบเดิมอยู่ไม่รอด
ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอ ทำธุรกิจในเรื่องของนิคมอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์ นั้นไม่สามารถทำธุรกิจแบบเดิมได้แต่ต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาโดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยี 5 จีมาใช้ โดยปัจจุบันมีการจัดทำความร่วมมือกับผู้ให้บริการ (โปเปอร์เรเตอร์) ไปแล้ว 4 รายจาก 5 รายเหลือเพียง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่จะมีการทำความร่วมมือกันในเร็วๆนี้
โดยเมื่อประเทศไทยใช้เทคโนโลยี 5จี ที่จะมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ก็จะทำให้ระบบการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าบางส่วนที่ใช้เทคโนโลยี 5จี ในการสั่งการผลิต รวมถึงดูไปถึงการต่อยอดเทคโนโลยีให้เป็นธุรกิจที่ 5 ของดับบลิวเอชเอที่กำลังศึกษาความคืบหน้าของ Digital health tech ที่จะตอบโจทย์เรื่องสุขภาพของคนและยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก และสอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจเกี่ยวกับการให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพในยุคปัจจุบัน
ในขณะที่การให้บริการในเรื่องข้อมูล ซึ่งในการบริหารงานในนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอได้เตรียมที่จะมีการบริหารจัดการในลักษณะ Data Centre เพื่อนำเข้ามาใช้บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจในการบริหารข้อมูลเพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจ และลดต้นทุนด้วย
ในส่วนนี้ ดับบลิวเอชเอตั้งใจที่จะพัฒนาศูนย์ข้อมูลคุณภาพสูง และโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกและมือถือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีแล โทรคมนาคมระดับโลก
ทั้งนี้ จะพัฒนาธุรกิจและทางเลือกด้านข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนลูกค้านิคมอุตสาหกรรม ทั้งจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศซึ่งคุณภาพในการสื่อสารส่งต่อข้อมูลถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลูกค้าต้องการเมื่อเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
ดันธุรกิจสมาร์ทโลจิสติกส์
ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับคลังสินค้าก็เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ดิจิทัลเข้ามามากก็จะมีการใช้ระบบ AI เข้ามาในธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการใช้ระบสมาร์ทโลจิสติกส์เข้ามาในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมองว่าธุรกิจโลจิสติกส์จะเติบโตมากขึ้นสอดคล้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์สที่เติบโตรวดเร็วมากและปัจจุบันมีขนาดใหญ่ถึง 19.6% ของจีดีพี
นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอได้มีการวางแผนจะทำระบบสมาร์ทกริดในนิคมอุตสาหกรรม 100% เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้มีการลงนามความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งในอนาคตลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอจะสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มของดับบลิวเอชเอได้
รวมทั้งขายไฟฟ้าเข้ากริดของการไฟฟ้าได้ด้วย ซึ่งเมื่อทำสำเร็จจะช่วยเสริมธุรกิจไฟฟ้าของดับบลิวเอชเอและธุรกิจของลูกค้าในนิคมที่จะสามารถซื้อไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ถูกลงและมีรายได้เพิ่มจากการขายไฟฟ้าด้วยอีกทางหนึ่ง
“ดิจิทัลอินโนวิชั่นจะเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจทั้ง 4 ด้านที่ดับบลิวเอชเอทำอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ โลจิสติกส์ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจะนำไปสู่การทรานสฟอร์มบริษัท ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของแต่ละธุรกิจก็รับโจทย์ที่จะต้องไปคิดรูปแบบโมเดลธุรกิจเพื่อตอบโจทย์นี้ซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทสามารถเติบโตไปสู่เป้าหมายได้ ขณะเดียวกันดิจิทัล อินโนวิชั่นอาจนำไปสู่ธุรกิจใหม่้เป็นธุรกิจที่ 5 ได้ในอนาคต” นางสาวจรีพร กล่าว
ปรับ ครม.ไม่กระทบ EEC
นางสาวจรีพร กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอยังเชื่อมั่นการเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมั่นใจว่ารัฐบาลจะสานต่อโครงการนี้อย่างแน่นอนภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ เนื่องจากอีอีซีเป็นโครงการลงทุนที่สำคัญของประเทศที่จะดึงดูดการลงทุนจากภายนอกประเทศ โดยรัฐบาลมีการออกกฎหมายมารองรับเป็นที่เรียบร้อยและมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ทั้งนี้ แม้ข้อมูลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทยจะไม่ดีนัก โดยไตรมาสที่ 1 ปีนี้ เอฟดีไอหดตัวจากปีก่อนถึง 68% และคำขอส่งเสริมการลงทุนของกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในไตรมาสที่ 1 ลดลงกว่า 44% แต่แนวโน้มการย้ายฐานการลงทุนออกจากจีน เนื่องจากสงครามการค้าและโควิด-19 ยังถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยเพื่อกระจายความเสี่ยงเรื่องซัพพายเชนที่อาจหยุดชะงักได้
นอกจากนี้ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่างได้ช่วยงานขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซีของรัฐบาลมาก่อน ในส่วนคณะอนุกรรมการด้านการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน จึงมั่นใจว่าจะมีการผลักดันโครงการนี้ต่อเนื่องหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความคืบหน้าในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในอีอีซีแล้ว
หวั่น 5ปี เวียดนามแซงหน้า
สำหรับอีอีซีถือว่าเป็นตัวอย่างของโครงการการเดินหน้าพัฒนาพื้นที่เมื่อมีความสำเร็จโมเดลนี้ก็สามารถที่จะนำไปขยายในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้ ซึ่งโครงการอีอีซีจึงเป็นจุดขายของประเทศหากไม่เดินหน้าต่อประเทศก็ขาดจุดขายหากไม่ทำต่อเชื่อว่าอีก 5 ปีเวียดนามจะแซงหน้าประเทศไทยอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ มีนักลงทุนหลายประเทศสอบถามเข้ามามากว่าคิดว่าโครงการอีอีซีจะเดินหน้าได้ต่อหรือไม่ ซึ่งก็ได้สอบถามกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ให้ความมั่นใจว่าจะเดินหน้าต่อแน่และยังมีโอกาสการลงทุนอยู่มากโดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้น อีอีซีจึงถือว่าเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อ และเป็นโอกาสของประเทศ เพราะขณะนี้มีอีกหลายธุรกิจที่อยากเข้ามาลงทุน เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่จากประเทศจีนก็มีการติดต่อเข้ามา ขณะที่ผู้ประกอบการที่ขยายโครงการซึ่งเป็นแวร์เฮาส์ขนาดใหญ่ก็มีการติดต่อมาขอขยายพื้นที่เพิ่มจากที่เคยซื้อพื้นที่แล้วซึ่งตรงนี้สะท้อนว่าอีอีซีเป็นโครงการที่สำคัญ”