อีกหนึ่งธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน อย่างธุรกิจ “รถลิมูซีน” ที่เป็นหนึ่งในบริการด้านการเดินทางสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความสะดวกสบายระดับพรีเมียม หรือรองรับนักธุรกิจและกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงในการเดินทางท่องเที่ยว
วันนี้ในชั่วพริบตาเดียวลูกค้าจาก 100 เหลือ 0 ได้ในทันทีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่การเดินทางและธุรกิจถูก “ชัตดาวน์” ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกพร้อมๆ กัน
วิชิต เอื้ออารีวรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิมูซีน เอ็กเพรส จำกัด ผู้ให้บริการรถลิมูซีน รับ–ส่งผู้โดยสาร ภายใต้แบรนด์ Limousine Express เล่าให้ฟังว่า ส่วนตัวทำธุรกิจมานานกว่า 30 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์ไหนที่มีผลกระทบเกิดขึ้นรุนแรงและรวดเร็วเช่นนี้มาก่อน ซึ่งวิกฤติครั้งก่อนๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นผลกระทบจะทยอยเพิ่มความรุนแรงเป็นลำดับ แต่กรณีโควิด-19 นี้พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นในทันที จาก 100 เหลือ 0 ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
“ย้อนกลับไปในช่วงมีการประท้วงปิดสนามบินของผู้ชุมนุมทางการเมือง ในเวลานั้นบริษัทเราได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่สิ่งที่ไม่กังวลเลยคือในช่วงนั้นมองเห็นทิศทางว่าจะจบลงเมื่อไร สิ่งที่เราทำก็คือย่อตัวลงหลบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ปกติก็กลับมาทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างกับโควิด-19 มากที่ไม่สามารถทราบได้เลยว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร”
ประเทศไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกกว่า 70% ซึ่งที่ผ่านมาผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ในภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแม้ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังมีภาคการส่งออกเป็นตัวพยุงไว้อยู่ แต่ในครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะถูกกระทบไปทุกภาคส่วน
“ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาเราก็ยังมีงานอยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ทุกอย่างหยุดหมด เพราะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศทางอากาศได้ โดยช่วงแรกที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เราคิดไว้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ 2-3 เดือน แต่เมื่อรับข้อมูลข่าวสารแล้วนั้นประเมินว่าจะเกิดขึ้นนานอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี”
Limousine Express ปรับแผนธุรกิจใหม่ทั้งหมด
ในสถานการณ์ปกติ สัดส่วนลูกค้าของบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าชาวต่างชาติอยู่ที่ 80% และลูกค้าชาวไทย 20% ซึ่งได้มีการลงนามสัญญาข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของสายการบินต่างๆ ในการให้บริการรับ–ส่งลูกค้าที่ถือบัตรโดยสารชั้นเฟิสต์คลาสและบิสเนสคลาส ด้วยรถลิมูซีนระดับพรีเมียมที่บริษัทใช้แบรนด์ เมอร์เซเดส–เบนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ขณะที่กลุ่มลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เป็นสมาชิกบัตรเครดิตระดับสูงของสถาบันการเงินที่ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษในการใช้บริการรับ–ส่งด้วยรถลิมูซีน
“สิ่งที่เราทำคือโยนแผนทุกอย่างทิ้งไป แล้วคิดใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้”
บริษัทจึงได้ปรับแผนในการทำราคาโปรโมชั่นรถลิมูซีน เมอร์เซเดส–เบนซ์ ในราคาพิเศษ 599 บาท/เที่ยว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากปกติ 2,000 บาท/เที่ยว โดยจะได้รับบริการมาตรฐานระดับพรีเมียม แต่ราคาที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งได้ทดลองทำโปรโมชั่นไปตั้งแต่ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับดีมาก
นอกจากนั้น ยังได้มีการเจรจาทางธุรกิจกับบริษัทและผู้ประกอบการ โรงแรม สถานที่พักอาศัย สนามกอล์ฟ สถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำในประเทศไทย ที่ต้องการรถลิมูซีนไปให้บริการลูกค้าในราคาพิเศษ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไป
อีกทั้งมีการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่บริษัทไม่เคยมีมาก่อน อาทิ การร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร สถาบันการเงิน บัตรเครดิต ที่มอบสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้าคนพิเศษในการเดินทาง
ทำโปรโมชั่นหนักขนาดนี้มีกำไรหรือ ?
ทันทีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มรุนแรงผมได้มีการประกาศให้พนักงานทุกคนทราบว่ายืนยันจะไม่ปิดบริษัทและจะดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างแน่นอนจึงได้ทำโปรโมชั่นและแผนธุรกิจดังกล่าวข้างต้น
ในเวลานั้นพนักงานตั้งคำถามว่า ทำโปรโมชั่นแบบนี้ทำไปทำไม ไม่ขาดทุนหรือ ? จึงได้ตอบไปว่าขาดทุนอยู่แล้วแต่ไม่ต้องห่วงบริษัทพนักงานทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรจงทำให้เต็มที่จะขาดทุนหรือจะกำไรให้เป็นเรื่องของบริษัทเพราะมั่นใจว่าถ้าบริษัททำโปรโมชั่นแข่งขันราคาแต่ให้บริการด้วยมาตรฐานที่สูงกว่าในตลาดจะสามารถสร้างการรับรู้และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้ซึ่งทำให้ลูกค้ากล้าลองและหากใครได้ลองใช้แล้วก็ต้องกลับมาใช้ซ้ำอย่างแน่นอน
หลักคิดคือ วิกฤติเกิดขึ้นมาแล้วถ้าบริษัทไม่ทำอะไรก็จะมีแต่ผลเสีย รถที่ควรจะถูกนำไปวิ่งให้บริการต้องมาจอดเต็มลานจอดไปหมด อีกทั้งพนักงานจะมีความกังวลมากแค่ไหน ดังนั้นจึงต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งราคาโปรโมชั่นพิเศษ 599 บาท/เที่ยว ถามว่าได้อะไร คำตอบคือ ได้แค่ 3 อย่างเท่านั้น คือ 1.ค่าแรงพนักงานขับรถ 2.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และ 3.ค่าทางด่วนแต่สิ่งสำคัญคือพนักงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถพนักงานต้อนรับพนักงานผู้ประสานงานและอื่นๆยังมีงานทำซึ่งไม่ต้องคิดถึงเรื่องค่าสึกหรอของตัวรถหรือจะคิดว่ามีกำไรเลย
“ธุรกิจ จับมือ ธุรกิจ” ช่วยเหลือกันถึงอยู่รอด
วันนี้การที่จะนำพาให้เศรษฐกิจในประเทศไทยขับเคลื่อนให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้คือความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ใครมีจุดเด่นอะไรและขาดอะไรต้องเติมเต็มกันและกัน ซึ่งอาจจะต้องมองข้ามต้นทุนหรือกำไรไปก่อน แต่เป็นการทำอย่างไรให้ขาดทุนน้อยที่สุด และสามารถรักษาธุรกิจ รวมถึงพนักงานไว้ให้ได้มากที่สุด หากทำราคาหรือโปรโมชั่นได้ดีก็จะสามารถดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ ในที่สุดก็จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
“ธุรกิจเริ่มรีคัฟเวอรี (Recovery) มาได้แล้ว 10% เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา เดิมทีในปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ 150 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่อยู่ที่ 100 ล้านบาท ถึงวันนี้สามารถกลับมาที่ 25% ของรายได้ปีก่อนได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว”
อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไร
ในมุมมองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) อย่างเรา ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย มองว่า 3 เรื่องที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ
1.ควรเปิดประเทศ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีผู้ป่วยเป็น 0 ได้หรือไม่ โดยเราอาจจะรับความเสี่ยงได้บางอย่าง แต่สามารถควบคุมให้ดี ที่ผ่านมาเรามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสดังกล่าวไม่ถึง 60 ราย แต่ที่เราต้องแลกไปกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปแล้วเท่าไร ซึ่งประเทศไทยอาจไม่ต้องเป็นเบอร์ 1 ของโลกที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดแล้วเศรษฐกิจมีความเสียหายที่สุด ซึ่งสามารถสร้างสมดุลได้หรือไม่ อาทิ การจัดโซนที่สามารถให้เปิดประเทศได้บางส่วนและทยอยเปิดไปตามลำดับ ซึ่งหากมีปัญหาก็จะสามารถควบคุมได้เป็นโซนๆ ไป อย่าล็อกจนกระทั่งทุกคนตายหมด
2.สินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี มีขั้นตอนรายละเอียดมาก จนกระทั่งผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงหรือผ่านหลักเกณฑ์ไปได้ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องยอมรับความเสี่ยงบางส่วนเพื่อให้สินเชื่อสามารถเข้าถึงผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ
3.ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ รัฐบาลควรออกหลักเกณฑ์การยืดเวลาชำระหนี้ให้เป็นหลักเกณฑ์กลางเป็นการทั่วไป ซึ่งกำหนดระยะเวลาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะหากเกิดผลกระทบทำให้บริษัทปิดไปแล้วนั้นจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
นอกจากนั้น รัฐบาลควรกำหนดนิยามความเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ หรือกำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยวงเงินสินเชื่อไม่ให้เกิน 5-10 ล้านบาท และกระจายไปในหลายธุรกิจ คงจะดีกว่าการปล่อยสินเชื่อให้วงเงินสูงๆ เพียงธุรกิจไม่กี่ราย
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่ถ้าหากเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้วนั้นกลุ่มลูกค้าจะกลับมาใช้บริการตามปกติตามสายการบินที่เปิดให้บริการ แต่อีกนานเท่าไรเราเองก็ไม่สามารถตอบได้ว่าจะสถานการณ์จะกลับสู่ปกติได้เมื่อไร