เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ปิ่น บุตรี
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชบ้านเมืองกลับคืนมาเป็นของชาวไทยอีกครั้ง หลังจากที่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกบุกทำลายเสียหายใน พ.ศ.2310
หลังจากนั้นพระองค์ทรงตั้งราชธานีใหม่นามว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” และทรงปราบดาภิเษกเป็น “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 พระชนมายุ 34 พรรษา
และเนื่องในโอกาส “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” หรือวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม เราขอพาไปรำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ใน 9 สถานที่ที่มีเคารพของพระองค์ท่านให้ได้กราบสักการะกัน ดังนี้
1.“วงเวียนใหญ่” กรุงเทพฯ
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่กลางวงเวียนใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 ออกแบบและควบคุมการหล่อโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นพระบรมรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ทรงพระมาลา ประทับบนหลังม้า
ในวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปีจะมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ ณ ที่แห่งนี้
2.“พระราชวังเดิม” กรุงเทพฯ
พระราชวังเดิมคือพระราชวังแห่งกรุงธนบุรี สถานที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ
ภายในพระราชวังเดิมนอกจากจะมีโบราณสถานเก่าแก่หลากหลายแล้ว ยังมี “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตั้งอยู่ด้านหน้าในท่าประทับยืน มือซ้ายถือพระแสงดาบ มือขวาชี้ลงพื้นดิน
นอกจากนี้ที่พระราชวังเดิมยังมี “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ประดิษฐานพระบรมรูปในท่าประทับยืนขนาดเท่าคนจริง รวมถึงมีรูปหล่อและพระบรมสาทิสสลักษณ์ของพระองค์ให้สักการะกัน
ทุก ๆ ปี จะมีการเปิดพระราชวังเดิมให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมฟรีเพื่อเฉลิมฉลอง “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” โดยปีนี้ (2565) เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 17-28 ธ.ค.65 เวลา 09.00-15.30 น.
3.“วัดหงส์รัตนาราม” กรุงเทพฯ
วัดหงส์รัตนารามเป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนปลายที่พระเจ้าตากสินทรงรับวัดนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งวัด รวมถึงเป็นวัดที่พระองค์มักจะเสด็จมานั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่เสมอ
สำหรับศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัดหงส์รัตนารามนั้น เชื่อกันว่าเมื่อพระองค์สวรรคตแล้วได้มีการเคลื่อนย้ายพระบรมศพผ่านมาทางนี้และโลหิตของพระองค์ได้ตกลงพื้นในบริเวณนี้ด้วย ประชาชนจึงได้สร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล
4.“วัดอินทาราม” กรุงเทพฯ
วัดอินทารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่พระเจ้าตากสิน โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก (ในคราวเดียวกันกับวัดหงส์รัตนาราม) นอกจากนี้วัดอินทารามฯ ยังเป็นวัดที่พระเจ้าตากสินเคยเสด็จมาประทับแรมเพื่อทรงนั่งวิปัสสนากรรมฐานและทรงศีลภาวนา
ขณะที่เมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคต วัดอินทารามฯ ก็ถูกใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ ถวายพระเพลิง และบรรจุพระบรมอัฐิ โดยมีพระเจดีย์คู่หนึ่ง เรียกว่า “พระเจดีย์กู้ชาติ” ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า
เชื่อกันว่าพระเจดีย์กู้ชาติเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าตากและพระอัครมเหสีไว้ ส่วนในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางตรัสรู้เป็นพระประธาน ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรังคาร หรือ เถ้ากระดูกของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ด้วย
5.“ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” จ.จันทบุรี
จังหวัดจันทบุรีเป็นสถานที่รวบรวมไพร่พลและกองทัพของพระเจ้าตาก ก่อนที่พระองค์จะบุกกลับมากู้แผ่นดินคืนจากข้าศึก ที่นี่จึงมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมาก
ดังนั้นจึงมีสถานที่ที่เป็นที่ระลึกถึงพระเจ้าตากสินอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ในตัวเมืองจันท์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2463 ก่อนที่ชาวจันทบุรีจะร่วมกันบริจาคเงินสร้างศาลใหม่ขึ้นใกล้กับศาลเดิมใน พ.ศ.2534
ศาลแห่งนี้มีรูปทรงเก้าเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน พื้นเป็นหินแกรนิต หลังคาเป็นรูปพระมาลายอดแหลมประดับลวดลายทองงามไม่เหมือนที่ไหน ภายในประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินในลักษณะประทับนั่งทรงเมือง หล่อด้วยทองเหลืองรมดำ มีผู้คนมากราบสักการะมิได้ขาด
6.“วัดลุ่มมหาชัยชุมพล” จ.ระยอง
“วัดลุ่มมหาชัยชุมพล” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดลุ่ม” ใน อ.เมือง จ.ระยอง เป็นสถานที่ที่มีประวัติเล่ากันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินได้นำทหารและพลเรือนอพยพมาผูกช้างผูกม้าพักแรมที่โคนต้นสะตือใหญ่บริเวณวัดแห่งนี้ ก่อนจะบุกไปเมืองจันทบุรีต่อไป
ต้นสะตือที่ว่านี้ยังคงยืนต้นแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นอยู่ในวัดลุ่มมาจนทุกวันนี้ ขณะที่บริเวณข้างต้นสะตือเป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรูปทรงแบบจัตุรมุข ด้านในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดเท่าองค์จริง ให้ได้กราบสักการะกัน
7.“วัดโยธานิมิตร” จ.ตราด
เล่ากันว่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มาตั้งทัพที่เมืองตราดเพื่อรวบรวมไพร่พลและตั้งค่ายพักแรมบริเวณที่ตั้งวัดนี้ และให้กำลังพลขนมูลดินมาเพื่อสร้างวัด และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการสร้างวัดจนสำเร็จ ให้ชื่อว่าวัดโยธานิมิตร
ปัจจุบันภายในวัดโยธานิมิตรมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงม้าศึกลักษณะเดียวกับที่วงเวียนใหญ่ และมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินที่สร้างขึ้นในศาลากลางน้ำ ลักษณะคล้ายเรือ ภายในศาลประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินขนาดเท่าคนจริงในท่าประทับนั่ง มีพระแสงดาบวางพาดพระเพลา
8.“ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน” จ.ตาก
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งอยู่ในอำเภอเมืองตาก เมืองที่ครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นเจ้าเมืองปกครองอยู่ระยะหนึ่ง ศาลแห่งนี้จึงมีความสำคัญกับจังหวัดตากเป็นอย่างมาก
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จ.ตาก เป็นศาลาแบบจตุรมุข ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระอิริยาบถกำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระราชอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา
9.“วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” จ.นครศรีธรรมราช
มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าแท้จริงแล้วพระเจ้าตากสินมิได้สวรรคตจากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ หากแต่พระองค์ทรงลี้ภัยมายังแดนใต้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช และทรงใช้ชีวิตบั้นปลายบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่นี่ โดยได้ประทับและภาวนาศีลอยู่ที่ถ้ำเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
ขณะที่วัดพระมหาธาตุ หรือวัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น มีความเชื่อกันว่าพระองค์เคยมาเดินปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้ ที่นี่จึงมี “เส้นทางพระเจ้าตาก” อยู่ที่วิหารทับเกษตร ที่เชื่อว่าเป็นเส้นทางเดินปฏิบัติธรรมของพระเจ้าตากสิน
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเครื่องแบบกษัตริย์ประทับนั่ง และมีรูปจำลองพระภิกษุสงฆ์มีนามว่า “สมเด็จสมณเจ้าสิน พรหมปัญโญ วิสุทธิเทพ ภิกขุ” ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าตากสินที่เสด็จมาบวชอยู่ที่เมืองนครฯ แห่งนี้นั่นเอง