ชวนขึ้นยอดเขา “เขาคิชฌกูฏ” จ.จันทบุรี ไปกราบสักการะ “รอยพระพุทธบาทพลวง” รอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดเมืองไทย และ “หินลูกบาตร” หนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์ ใน “งานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง)” ซึ่งปีนี้มีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 22 ม.ค.-22 มี.ค. 66
ในสถานการณ์ปกติ ทุกวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ที่จังหวัดจันทบุรี จะคึกคักคลาคล่ำไปด้วยศรัทธามหาชนจากผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวที่ต่างมุ่งหน้าเดินทางไปยัง ”เขาคิชฌกูฏ” เพื่อสักการะ “รอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ใน “งานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง)” ซึ่งปีนี้มีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2566 รวมระยะเวลา 2 เดือนเต็ม
พิชิตยอดเขาคิชฌกูฏ
เขาคิชฌกูฏ ตั้งอยู่ในพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ” ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ขุนเขาแห่งนี้ปัจจุบันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในดินแดนแห่งศรัทธาเลื่องชื่ออันดับต้น ๆ ของเมืองไทย
สำหรับการเดินทางขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทพลวงและหินลูกบาตรบนยอดเขาคิชฌกูฏนั้น ปัจจุบันจะต้องนั่งรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อของทางชุมชนขึ้นไป บนเขาและเดินเท้าต่อไปยังยอดเขา
โดยจุดบริการรถกระบะขึ้นเขาคิชฌกูฏ มีอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ คิวรถขึ้นเขาวัดกระทิง และคิวรถขึ้นเขาวัดพลวง (สามารถนำรถส่วนตัวไปจอดที่บริเวณวัด) มีรถให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ค่ารถอยู่ที่ขาไป 100 บาท ขากลับ 100 บาท และค่าเข้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท (ชาวต่างชาติ เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท)
สภาพเส้นทางที่รถวิ่งจะเป็นทางลาดยางไประยะหนึ่ง จากนั้นจะเป็นถนนดินขึ้นเขาสูงชันและคดโค้ง ใช้เวลาราว 30 นาทีรถก็จะขึ้นมาถึง “ลานพระสีวลี” ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดทางรถ ให้ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กม. โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาคอยตรวจคัดกรองขยะก่อนจะเดินขึ้นไป
สำหรับเส้นทางเดินขึ้น-ลง ยอดเขาคิชฌกูฏในวันนี้มีการทำเส้นทาง ปรับทางเดิน บันได สะพาน ไว้บริการผู้แสวงบุญเป็นอย่างดี แม้จะเป็นทางเดินขึ้นเขาชัน แต่ว่าเดินง่ายสะดวกสบาย ระหว่างทางมีจุดให้พักตามจุดต่าง ๆ อาทิ หินพระนอน ฐานป่าไม้ เนินพระเมตตา สะพานสรพงศ์ และประตูสวรรค์ เป็นต้น ก่อนจะถึงบนยอดเขา
นอกจากนี้ระหว่างทางยังมีจุดให้ทำบุญและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็น พระนอนหิน ต้นไม้ขอหวย รูปเคารพหลวงพ่อเขียน ไหว้ท้าวเวสสุววณ เคาะระฆังเสริมสิริมงคล ทำบุญโยนเหรียญขอพร ทำบุญวางเหรียญบนก้อนหิน เป็นต้น
รอยพระพุทธบาทสูงที่สุดในเมืองไทย
เขาคิชฌกูฏ หรือ “เขาพระบาทพลวง” (ชื่อเดิม) เป็นส่วนหนึ่งของ เทือกเขาสอยดาว บนยอดเขาคิชฌกูฏเป็นที่ตั้งของ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ได้แก่ “รอยพระพุทธบาทพลวง” และ “หินลูกบาตร”
รอยพระพุทธบาทพลวง เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ (รอยเดิม) กว้างราว 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ตั้งอยู่บนลานหินกว้างลาดเอียงริมหน้าผา บนยอดเขาเขาคิชฌกูฏบนความความสูง 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล (ใกล้กับหินลูกบาตร) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาท (ตามธรรมชาติ) ที่สูงที่สุดในเมืองไทย
รอยพระพุทธบาทพลวงถูกค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2397 โดยกลุ่มพรานที่ขึ้นไปหาของป่าบนยอดเขา (แต่ตอนนั้นคิดว่าเป็นรอยเท้าผู้มีอิทธิฤทธิ์) จึงนำความไปบอกเล่าแก่ “หลวงพ่อเพชร” อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับบางกะจะ (อ.เมือง จ.จันทบุรี)
หลวงพ่อเพชรได้นำคณะขึ้นมาพิสูจน์รอยบนยอดเขาและระบุว่านี่คือรอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นหลวงพ่อเพชรได้นำคณะญาติโยมขึ้นไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทบนยอดเขารอยนี้ ซึ่งถือว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์รูปแรกผู้บุกเบิกและเป็นต้นกำเนิดประเพณีไหว้รอยพระพุทธบาทพลวงนับตั้งแต่นั้นมา
อย่างไรก็ดีในสมัยนั้นการเดินทางขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทพลวงที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงชันและเป็นป่ารกทึบ ค่อนข้างลำบากมาก ต่อใน ปี พ.ศ.2515 “พระครูธรรมสรคุณ” หรือ “หลวงพ่อเขียน” พระเกจิที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านจิตตภาวนา ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกระทิง เจ้าคณะอำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ (ในสมัยนั้น) ได้เป็นผู้นำการบุกเบิกและพัฒนาเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ เพื่อขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทพลวงและหินลูกบาตรที่ตั้งอยู่ติด ๆ กัน
รอยพระพุทธบาทพลวง ปัจจุบันมีอยู่ 2 รอยด้วยกัน คือ รอยเล็ก (รอยขวา) เชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทเดิม ส่วนรอยใหญ่ (รอยซ้าย) เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองที่สร้างขึ้นโดยแม่ชีท่านหนึ่งที่ขึ้นมาปฏิบัติธรรมอยู่บนนี้ ทั้ง 2 รอย (ปัจจุบัน) มีการหล่อขอบปูนทาสีทองล้อมไว้ให้เห็นชัดเจนเพื่อให้นักแสวงบุญได้กราบสักการะ และอธิษฐานของพรตามใจปรารถนา
“หินลูกบาตร” มหัศจรรย์ปรากฏการณ์หินเทิน
บนยอดเขาคิชฌกูฏยังมีอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคือ “หินลูกบาตร” หรือ “หินลูกพระบาท” ที่ตั้งอยู่ติดกับรอยพระพุทธบาทพลวง
หินลูกบาตร มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายบาตรคว่ำ ตั้งตระหง่านอย่างมั่นคงอยู่ริมหน้าผาลาดเอียง เป็นร่มเงาให้แก่รอยพระพุทธบาทพลวงเสมอมา
หินลูกบาตรถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติสรรค์สร้างอันน่าทึ่งแห่งยอดเขาคิชฌกูฏ ที่หินก้อนใหญ่ยักษ์เช่นนี้สามารถตั้งอยู่บนชะง่อนผาที่ลาดเอียงอย่างมั่นคง ดูโดดเด่นจนบางครั้งคล้ายกับลอยอยู่เหนือลานหิน จึงเป็นเรื่องเล่าขานกันว่าหินลูกบาตรนี้ลอยอยู่เหนือพื้นดิน โดยเล่าต่อกันมาว่าเคยมีคนทดลองเอาเส้นด้ายลอดผ่านก้อนหินนี้ได้
อย่างไรก็ดีในทางธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ข้อมูลของหินลูกบาตรเอาไว้ว่า เทือกเขาสอยดาว อันเป็นที่ตั้งของเขาคิชฌกูฏนั้น เป็นเทือกเขาหินแกรนิตมวลไพศาล (Granite batholith) ซึ่งเกิดขึ้นจากหินหนืด (Magma) ที่เหลวร้อนภายใต้โลกและมีปริมาณมหาศาล แทรกซอนดันตัวขึ้นมาใกล้ผิวโลก แล้วแข็งตัวเป็นหินแกรนิตครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตร.กม. แกรนิตมวลไพศาลนี้เกิดขึ้นในยุคจูแรสซิกหรือประมาณ 190 ล้านปีมาแล้ว
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอันเป็นสาเหตุของการเกิดของหินลูกบาตร หรือที่ทางธรณีวิทยาเรียกว่า “หินเทิน” (หินทรงตัว) ซึ่งมีลักษณะเป็นหินก้อนกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เมตร วางตั้งอยู่บนพื้นหินแกรนิตที่มีลักษณะนูนโค้ง สอดรับกับฐานของหินเทินซึ่งมีลักษณะแบนเว้า เอียงเทเข้าร่องกันอย่างพอเหมาะเหมือนมีใครจับเอาก้อนหินขึ้นมาวางไว้บนยอดเขา แต่ตั้งอยู่ในลักษณะที่ล่อแหลมเสมือนจะกลิ้งหลุดออกไปจากพื้นในวันใดวันหนึ่ง ลักษณะเช่นนี้ทางธรณีวิทยาเรียกว่า “หินทรงตัว” (Balancing Rock)
การเกิดของหินเทินนี้อธิบายต่อได้ว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเปลือกโลกที่ทำให้พื้นผิวโลกบริเวณแกรนิตมวลไพศาลยกตัวเป็นพื้นที่สูง แล้วพื้นที่สูงนี้ได้รับการเกลี่ยระดับให้ราบลงอันเป็นกระบวนธรรมชาติการที่ทำให้ผิวโลกราบเรียบ หินส่วนนอกสุดผุพังและผุกร่อนไป แกรนิตมวลไพศาลจึงโผล่พ้นจากการปกปิด และถูกทำลายจากตัวกลางต่างๆ เช่น อุณหภูมิซึ่งทำให้เนื้อหินแกรนิตแตกออกเป็นกาบ (Exfoliation) เหมือนกาบกะหล่ำปลี น้ำเป็นตัวกัดเซาะทำลายให้เนื้อหินส่วนที่มีรอยแตกหลุดออกจากกันง่ายยิ่งขึ้น
ทิศทางของรอยแยก รอยแตก รอยเลื่อน อาจมีได้ตั้งแต่ตั้งฉาก เอียงเป็นมุมต่างๆ จนถึงแนวนอน ในกรณีที่มีรอยแยกในแนวนอนเกิดขึ้นร่วมด้วยนั้น การทำลายในแนวนอนจะเป็นไปได้ช้ากว่าแนวอื่นๆ เนื่องจากถูกปิดทับและน้ำหนักที่กดทับ ดังนั้นผิวส่วนที่สัมผัสกับบรรยากาศ จึงถูกทำลายให้มนกลมเปลี่ยนลักษณะไปในขณะที่ส่วนฐานยังไม่เปลี่ยนลักษณะ
เมื่อก้อนหินส่วนที่อยู่รอบข้างถูกนำพาออกไปจากแหล่งกำเนิด หินส่วนที่เหลือบางก้อนจึงมีลักษณะเสมือนเป็นหินที่ได้รับการโยกย้ายมาจากที่อื่นมาวางไว้ แต่แท้ที่จริงแล้ว หินก้อนนี้ก็คือส่วนหนึ่งของพื้นหินนั่นเอง นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าหินลูกบาตรขนาดใหญ่ตั้งอยู่อย่างมั่นคงผ่านกาลเวลามาได้อย่างไร?
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของเขาคิชฌกูฏ ที่นอกจากจะเป็นดินแดนแห่งศรัทธา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ท่องเที่ยวสายมูชื่อดังอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งธรณีวิทยาสำคัญของเมืองไทยกับปรากฏการณ์มหัศจรรย์ธรรมชาติของหินลูกบาตร ซึ่งเหล่าผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยว ต้องเดินขึ้น-ลง เขาด้วยความสำรวม ไม่ส่งเสียงดัง ใส่ชุดรัดกุมทะมัดทะแมง แต่ต้องมีความสุภาพ ไม่อุจาดตา เนื่องจากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงต้องไม่ทิ้งขยะทั้งบนเขาและในเส้นทาง และทำตามกฎระเบียบของสถานที่อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการเคารพสถานที่ และเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ให้ธรรมชาติคงอยู่คู่กับเราไปตราบนานเท่านาน
###########################
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการขึ้นเขาคิชฌกูฏ เพิ่มเติม ได้ที่ อช. เขาคิชฌกูฏ โทร. 039 609 672
และสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรี ได้ที่ ททท. สำนักงานจันทบุรี โทร. 039 480 220