เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
“ผ้าขาวม้า” หนึ่งใน Soft Power เอกลักษณ์ไทย อวดโฉมต่อสายตาชาวต่างชาติในงาน World Dance Day 2023 ที่ กรุงจาการ์ตาอินโดนีเซีย ท่ามกลางความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก โดยผ้าขาวม้าไทยขณะนี้อยู่ในระหว่าง การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ซึ่งคนไทยต้องร่วมลุ้นและส่งกำลังใจช่วยกันต่อไป
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในงาน World Dance Day 2023 ที่จัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา “ผ้าขาวม้า” Soft Power ของไทย ได้ไปอวดโฉมต่อสายตาชาวต่างชาติที่เข้ามาชมงานเป็นจำนวนมาก
โดยบรรยากาศของงานดังกล่าว ในช่วงเช้าเป็นการเดินขบวนพาเหรด ในย่านเมืองเก่ากรุงจาการ์ตา ของนักแสดงนานาชาติ 6 ประเทศประกอบด้วย มาเลเซีย บรูไน อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งนักแสดงของไทย ได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวต่างชาติมาร่วมขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
ต่อมาในช่วงค่ำมีการแสดง ที่ เวทีพิพิธภัณฑ์ฟาตาฮิลลา ย่านเมืองเก่า (Kota Tua) ท่ามกลางชาวอินโดนีเซียและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชมงานอย่างล้นหลาม พิธีปิดมีขึ้นเมื่อเวลา 21.00 น. โดยมีนายซานดิอากา อูโน รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์อินโดนีเซีย เป็นประธาน จากนั้นเป็นการแสดงนานาชาติเริ่มจาก จีน อินเดีย บรูไน และไทย
สำหรับชุดการแสดงของไทย แสดงโดยเยาวชนหญิง 17 คน จาก “สมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน” ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มี 2 ชุดต่อเนื่องกันความยาวประมาณ 15 นาที ได้แก่ ชุด “เคียนขะม้านารี” และชุด “ผืนไท”
โดยชุด “เคียนขะม้านารี” ใช้ผ้าขาวม้าประกอบท่ารำ บอกเล่าเรื่องราวของผ้าขาวม้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทย จนเป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทย และขณะนี้กำลังเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อจากโขน นวดไทย และโนรา
ส่วนชุด “ผืนไท” ประกอบด้วยท่ารำและการแต่งกายของคนไทยในทุกภูมิภาค สื่อให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขร่มเย็น ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ หลังการแสดงจบลง ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมอย่างยาวนานด้วยความประทับใจ
สำหรับ “ผ้าขาวม้า” ที่เป็นหนึ่งใน Soft Power เอกลักษณ์ไทย ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้เสนอ ผ้าขาวม้า : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย (Pha Khoa Ma : Multifunctional cloths in Thai life) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้มีการพิจารณาถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณค่าความสำคัญที่ผ้าขาวม้าที่มีต่อวิถีชีวิตคนไทย ด้วยผ้าที่มีลวดลายตารางสี่เหลี่ยมเป็นเอกลักษณ์ขนาดกว้าง 60-80 ซม.และยาว 120-180 ซม. พบการใช้ประโยชน์อยู่ทุกภาคและชุมชน รวมถึงชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มไทลื้อ ไทยวน ไทยลาว ภูไท ส่วย กูย เป็นต้น
นอกจากนี้ผ้าขาวม้ายังมีลวดลายหรือสีแตกต่างกันตามเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ เข้าถึงง่ายและผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยหลายด้าน ทั้งการทอผ้าใช้กันเองในครัวเรือน แลกเปลี่ยนในหมู่บ้านและชุมชน ไปจนถึงเป็นของขวัญ และใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า ผ้าขาวม้ามีมาตั้งแต่สมัยเชียงแสน จนถึงปัจจุบัน ผ่านการปรับปรุงต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น
สำหรับการเสนอนี้ เป็นไปตามที่ไทยได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนและรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ซึ่งตามอนุสัญญาได้ให้รัฐภาคีสามารถเสนอรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ต่อยูเนสโกได้ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นำเสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก อาทิ ปี 2561 ขึ้นทะเบียนโขน ปี 2562 ขึ้นทะเบียนนวดไทย และปี 2564 ขึ้นทะเบียนโนรา
นอกจากนี้ การเสนอขึ้นทะเบียนผ้าขาวม้าจะส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมฯ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่นำไปสู่การสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ เป็นต้น