เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เมนูสุดหรูต้อนรับผู้นำโลกในงานเอเปค 2022 เป็นการชูความเป็นครัวโลกและอาหารไทยได้อย่างน่าภูมิใจ แต่ก็มีเมนู “ไข่ปลาสเตอร์เจียน” ที่มีคนในโซเชียลมีเดียตั้งคำถามเชิงเหน็บแนมว่า ไม่ใช่วัตถุดิบของไทย แต่ทว่าความจริงแล้ว ปลาสเตอร์เจียนและไข่ปลาหรูแสนแพงนั้น ประเทศไทยสามารถผลิตได้มานานแล้วในพื้นที่โครงการหลวง โดยไม่ต้องอาศัยการนำเข้า หรือสั่งซื้อจากต่างประเทศเท่านั้น
หนึ่งในเมนูต้อนรับผู้นำระดับโลกของการประชุมเอเปค 2022 ที่เชฟชุมพล แจ้งไพร บอกไว้ คือ “Amuse-Bouche” (ของว่าง) กระทงทองไส้ครีมซอสและไข่ปลาสเตอร์เจียน โครงการหลวงดอยอินทนนท์
แม้ความจริงแล้วหัวหน้าเชฟคนดัง อธิบายไว้แล้วว่าเป็นวัตถุดิบจากโครงการหลวงดอยอินทนนท์ แต่ทว่าในโลกโซเชียลมีเดีย ก็ยังมีบางคนไม่วายตั้งข้อสังสัยว่าเป็นวัตถุดิบแบบไทยๆตรงไหน คนไทยเลี้ยงได้ด้วยหรือ
คำตอบของข้อสังสัยข้างต้นนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการหาแนวทางพัฒนาการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนบนพื้นที่สูง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้มีอาชีพ เพื่อบริโภคและจำหน่ายได้
เพราะก่อนหน้านั้น พื้นที่บนดอยสูง ไม่ค่อยมีใครเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น ทำให้น้ำเย็นตลอดปี ทางศูนย์วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ศึกษาหาพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ และพบว่าปลาสเตอร์เจียน เป็นปลาที่เหมาะสม เพราะเป็นปลาที่ชอบน้ำเย็น และไข่ที่ได้จากปลาสเตอร์เจียน หรือที่เรียกกันในชื่อไข่ปลาคาเวียร์ ยังได้รับความนิยมและมีราคาที่สูงมาก
ศูนย์ฯได้รับเงินทุน ส่วนพระองค์ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในการนำเข้าปลาสเตอร์เจียน จาก 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี กับรัสเซีย เป็นสายพันธุ์สเตอร์เจียนไซบีเรีย ที่ให้ไข่ปลาคาเวียร์ คุณภาพระดับกลาง จำนวน 10,000 ตัว นำมาเพาะเลี้ยงอยู่ในโครงการฯ นอกจากนี้ยังมีการทดลองเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ซึ่งเป็นปลาในเมืองหนาวอีกด้วย
ทั้งนี้โครงการเพาะเลี้ยงดังกล่าว กระจายไปในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง และยังมีโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ฯ ต้องใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูล และลองผิดลองถูกเกือบสิบปี จนในปี พ.ศ. 2557 ปลาสเตอร์เจียน ก็เริ่มขยายพันธุ์เองได้เป็นครั้งแรก โดยสิ่งสำคัญที่ต้องควบคุม คือ อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสม ควรมีอุณหภูมิอยู่ที่ระหว่าง 12-24 องศาเซลเซียส รวมถึงความสะอาดของน้ำ ซึ่งพื้นที่โครงการหลวงได้เปรียบจากการมีระบบน้ำเป็นระบบธรรมชาติ ใช้น้ำเย็นบนพื้นที่สูงได้ตลอดทั้งปี
การเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนในประเทศไทย จึงประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก โดยปัจจุบันเนื้อปลาขายกิโลกรัมละ 800 บาท ส่วนไข่ที่นำมาทำ “คาร์เวียร์” ราคาสูงกิโลกรัมละ 6 หมื่น บาท และต้องสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น โดยสามารถนำไปทั้งการบริโภค และธุรกิจเครื่องสำอาง สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการหลวงได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปลาสเตอร์เจียน หรือไข่ปลาสเตอร์เจียน ก็กล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตที่คนไทยสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเสมอไป หรือหากใครยังตั้งคำถามไม่เชื่อในข้อมูลที่มี คงได้แต่แนะนำให้ตีตั๋วไปเที่ยวเชียงใหม่ แล้วหาโอกาสแวะเปิดโลกทัศน์เยี่ยมชมโครงการด้วยตนเอง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ “>Youtube :Travel MGR และ “>Instagram : @travelfoodonline และ “>TikTok : @travelfoodonline