สัมภาษณ์พิเศษ
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกประเทศปิดเส้นทางการเดินทางระหว่างประเทศในปีนี้นับเป็นวิกฤตใหญ่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยากจะก้าวผ่าน โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่ลงทุนสูง บุคลากรจำนวนมาก
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บูติคแอร์ไลน์หนึ่งเดียวของไทยที่เพิ่งก้าวข้ามผลประกอบการที่ “ขาดทุน” มาได้ในปีก่อน แต่ก็ต้องมาประสบกับภัยโรคระบาดที่ไม่มีใครหลีกพ้นในปีนี้ ไว้ดังนี้
โควิดเหมือนสงครามโลก
“พุฒิพงศ์” ยอมรับว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หนักหนาในระดับเดียวกับสงครามโลก ได้ส่งผลกระทบกับรายได้ของสายการบินรวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่น ๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยพบว่าจำนวนผู้โดยสารลดน้อยลง โดยเฉพาะธุรกิจการบินในไทยที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปกติมีสัดส่วนเป็น 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดจึงคาดว่าในปีนี้น่าจะมีจำนวนผู้โดยสารรวมลดลงราว 60%
เนื่องจากในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา สายการบินจำเป็นจะต้องหยุดบินเป็นเวลา 1 เดือนเศษ ๆ จากการประกาศปิดน่านฟ้าไม่อนุญาตให้สายการบินต่าง ๆ นำนักเดินทางท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย
“แม้ขณะนี้สายการบินจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินในประเทศได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เต็ม 100% และไม่ใช่ทุกเส้นทางที่ได้รับผลตอบรับดีจากผู้โดยสาร และแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์จะผ่อนคลายขึ้นเรื่อย ๆ และความมั่นใจก็เริ่มกลับมา แต่ก็จำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ ซึ่งแต่ละสายการบินนั้นก็อาจจะมีกลยุทธ์ในการทำตลาดไม่เหมือนกัน”
“พุฒิพงศ์” บอกด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนกับที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่เครื่องบินจะหมดไปจากน่านฟ้าเหมือนกับครั้งนี้ ฉะนั้นถ้าถามว่า จำนวนผู้โดยสารรวมจะเป็นไปตามคาดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่ว่าช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์เป็นอย่างไรด้วย ตอนนี้ยังคาดการณ์ยากมาก
- โยกย้ายผู้บริหาร “การบินไทย” ตั้ง “นนท์ กลินทะ” รักษาการ DY คนใหม่
- เผย 10 อันดับ รัฐวิสาหกิจนำเงินเข้ารัฐสูงสุด 9 เดือน ปีงบประมาณ 2563
ปรับลดเครื่อง-เลี่ยงแบกภาระ
ทั้งนี้ เนื่องจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้กระทบทุกคนถ้วนหน้า แต่ละคนได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ซึ่งไม่เหมือนกับสถานการณ์ปกติที่เราเคยเผชิญมาจึงจำเป็นจะต้องคอยติดตามดูอย่างใกล้ชิด
สำหรับ “บางกอกแอร์เวย์ส” นั้น “พุฒิพงศ์” บอกว่า มีแผนปรับลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของเครื่องบินและการปฏิบัติการบิน รวมถึงขอความร่วมมือจากพนักงานในการปรับลดรายได้บางส่วนเพื่อให้สายการบินสามารถอยู่รอดไปได้โดยในส่วนของการปรับลดเครื่องบินปีนี้ สายการบินได้คืนเครื่องบินที่หมดสัญญาไปแล้ว 1 ลำ และจะมีการคืนเครื่องบินอีกอย่างแน่นอน ทั้งเครื่องที่ครบตามสัญญาแล้วและเครื่องที่คืนก่อนเวลา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาค่าใช้จ่ายและค่าปรับในการคืนเครื่องบินก่อนครบสัญญาว่าคุ้มหรือไม่
สำหรับเครื่องที่ครบอายุสัญญาในปีนี้และปีหน้า หลายเครื่องจะปรับให้เหมาะสมกับเที่ยวบินที่มีอยู่ โดยจะพิจารณาดีมานด์ของผู้โดยสารร่วมด้วยอีกครั้ง
เน้นคอนเซอร์เวทีฟ “ช้าแต่ชัวร์”
นอกจากนั้น สายการบินยังค่อย ๆ ปรับตัวตามมาตรการของรัฐ โดยใช้ความระมัดระวังในการขยายกลับมาเปิดเส้นทางบิน โดยเลือกใช้กลยุทธ์ที่ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ และเน้นดูดีมานด์ของผู้โดยสารเป็นหลักเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการขาดทุนจากการขยายตัวรวดเร็วเกินดีมานด์ของผู้โดยสารโดยช่วงที่ผ่านมาสายการบินได้กลับมาเปิดบินเส้นทางภายในประเทศอีกครั้ง เริ่มจากเส้นทางสมุย เชียงใหม่ ลำปาง และสุโขทัย และล่าสุดจะเพิ่มเส้นทางสู่ภูเก็ต และสมุย-ภูเก็ต
“ตอนนี้เราเหลือเที่ยวบินอยู่ไม่ถึง20 เที่ยวต่อวัน จากอดีตที่เคยมีเป็นร้อย ๆเที่ยวบิน ผลตอบรับบางเส้นทางก็ดี บางเส้นทางก็กลับมาเป็นปกติเหมือนกับก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 เช่นเส้นทางลำปาง ที่ผู้โดยสารส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ หรือคนที่จำเป็นต้องเดินทางเช่นเดียวกับสมุยที่เปิดเที่ยวบินเพิ่มเป็นลำดับ รวมถึงขยับจากเครื่องใบพัดมาใช้เครื่องไอพ่นเพื่อรองรับผู้โดยสาร ทั้งที่จากเดิมคาดว่าน่าจะใช้เครื่องไอพ่นได้หลังเดือนตุลาคมนี้”
ชะลอโครงการผลตอบแทนช้า
“พุฒิพงศ์” บอกอีกว่า ในส่วนของการลงทุน ถ้าหากโครงการไหนไม่เร่งด่วนสามารถประวิงการลงทุน ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร สายการบินจะชะลอการลงทุนดังกล่าวไปก่อน แต่การลงทุนใดที่ลงทุนแล้วให้ผลตอบแทนได้ทันทีก็จะเดินหน้าต่อไป นอกจากนั้นแล้วสายการบินยังคงรอความคืบหน้าของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนจากรัฐบาลอยู่ แม้หลังจากหน่วยงานที่รับเรื่องยืนยันว่าได้ส่งเรื่องกลับไปที่กระทรวงการคลังแล้วยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
รอส่งมอบพื้นที่ “อู่ตะเภา”
“พุฒิพงศ์” ยังพูดถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินด้วยว่า บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัทคู่ค้า ตั้งบริษัท อู่ตะเภา เอวิเอชัน จำกัด โดยถือหุ้น 45% และเริ่มลงนาม
ในสัญญาโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาแบ่งการลงทุนเป็น 4 ระยะ แต่ต้องรอส่งมอบพื้นที่โครงการอย่างน้อย 18 เดือนเนื่องจากเงื่อนไขของภาครัฐ โดยหลังจากการส่งมอบพื้นที่ บริษัทจะต้องดำเนินการก่อสร้างเฟสแรกให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีพร้อมรองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน
จากนั้นเมื่อผู้โดยสารเกิน 80%ของความจุเฟสแรก จึงจะดำเนินการก่อสร้างเฟสที่ 2 และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบ 4 ระยะ
5 ปีเห็นรายได้ “อู่ตะเภา”
ทั้งนี้ ได้กำหนดไว้ว่าระยะเวลา 50 ปีโครงการจะต้องรองรับผู้โดยสารได้60 ล้านคน จึงมองว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากนี้ บริษัทจึงจะสามารถรับรู้รายได้ก้อนแรก และคาดว่า
จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-17 ปีในการไปถึงจุดคุ้มทุนโดยรายได้ดังกล่าวจะเข้ามาในรูปแบบของส่วนแบ่งกำไร ทำให้สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทจะมาจากธุรกิจสายการบินและสนามบินเช่นเดิม
“สายการบิน” กิจการหลัก
อย่างไรก็ตาม “พุฒิพงศ์” ย้ำว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือ สายการบินและจะยังคงเป็นต่อไป แต่ด้วยการเติบโตต่อไปในอนาคตและความไม่แน่นอนของธุรกิจสายการบินที่ถูกกระทบได้ง่าย ทำให้บริษัทจำเป็นจะต้องอาศัยกิจการอื่น ๆ เป็นตัวเชื่อมต่อให้ธุรกิจมั่นคงดำรงอยู่ได้เหมือนกับที่หลายสิบปีก่อน บริษัทเลือกลงทุนในธุรกิจครัวการบิน ธุรกิจบริการภาคพื้น ทำให้เกิดประโยชน์กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง และทำให้ในวิกฤตที่ทุกภาคส่วนติดลบ แต่รายได้จากฝั่งธุรกิจคลังสินค้ายังคงเป็นบวก
ดังนั้น บริษัทจึงต้องขยับขยายเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินไปข้างหน้าได้ โดยเลือกกิจกรรมที่เป็นผลดีต่อสายการบิน และสายการบินยังคงเป็นแม่ของกิจการอื่น ๆ แม้ในอนาคตแม่อาจจะเหลือตัวเล็กกว่ากิจการลูกก็ตาม โดยเฉพาะโครงการเมืองการบิน ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่ากิจกรรมของสายการบิน แต่สุดท้ายแล้วสายการบินก็จะมีส่วนช่วยในการสร้างเครือข่ายและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันต่อไปได้