น้ำตาแห่งความปลาบปลื้มไหลรินอาบใบหน้าของ แอนเดรีย เวียซ สาวชาวอาร์เจนตินาวัยราว 40 ปี ขณะอุ้มทารกเพศชายที่เกิดจากแม่อุ้มบุญในยูเครน หลังพยายามมีลูกเป็นของตัวเองนาน 9 ปี แม้สุดท้ายฝันเป็นจริงแต่ตั้งอยู่บนธุรกิจแม่อุ้มบุญที่ถูกกฎหมายในยูเครน ซึ่งยังช่วยจุดประกายความฝันของคนที่อยากเป็นพ่อคนแม่คนอีกหลายพันชีวิต และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ที่อนุญาตให้ทำในเชิงพาณิชย์สำหรับชาวต่างชาติ
ที่เพิ่งมาบูมในยูเครนก็หลังจากที่อินเดียกับประเทศไทยออกกฎหมายว่าการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ให้กับชาวต่างชาติเป็นธุรกิจเถื่อนเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก
แม้ในห้วงนี้ยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 และมีข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้พ่อแม่หลายคนไปรับลูกอุ้มบุญไม่ได้ ทางคลินิกเอกชน อย่างเช่น The Bio TexCom ก็ใช้วิธีโพสต์คลิปวิดีโอให้เห็นเด็กทารกนอนเรียงเป็นแถวโดยมีแผงพลาสติกกั้นที่โรงแรมแห่งหนึ่งนอกกรุงเคียฟ
และอีกหนทางหนึ่งซึ่งจับมือร่วมกับภาครัฐให้ความช่วยเหลือ เช่น กรณีเวียซที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการเข้าประเทศมารับลูกตัวเองที่คลอดได้ไม่กี่สัปดาห์
ขณะที่ไม่มีสถิติตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่เหล่าผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า มีเด็กอุ้มบุญในยูเครนเกิดปีละราว 2,500-3,000 คน และราว 3 ใน 4 นี้เป็นชาวจีน ค่าใช้จ่ายสำหรับประเทศที่ยากจนมากที่สุดติดอันดับในยุโรป ถือว่ารายได้งดงามด้วยสนนราคาราว 42,000 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยราว 13 ล้านบาท ขณะที่ในสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายมากกว่าสองเท่าตัว
ด้านนายเซอร์กีย์ แอนโตนอฟ ทนายความซึ่งเปิดบริษัทด้านกฎหมายเชี่ยวชาญเรื่องคลอดบุตร เตือนถึงอุตสาหกรรมนี้ว่ามีการล่อลวงบ้าง จ่ายเงินให้แม่อุ้มบุญไม่เป็นไปตามสัญญาบ้าง ซึ่ง โอลกา คอร์ซูโนวา สาววัย 27 ปี ที่กำลังอุ้มบุญเป็นครั้งที่ 4 ก็บอกว่ามีหลายคนเป็นเช่นนั้น เพราะถูกนายหน้าหักค่าธรรมเนียม
แต่สำหรับตนไม่ถือว่าเป็นการล่อลวง ทุกคนสมัครใจมาทำ ตัวเองก็มีรายได้ต่อเดือนระหว่างตั้งท้อง 400 เหรียญ หรือกว่า 12,000 บาท คลอดลูกแล้วจะได้รับ 15,000 เหรียญ หรือกว่า 466,000 บาท
คอร์ซูโนวายอมรับว่าเพราะวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงยูเครนแบบตนต้องค้าขายสุขภาพตัวเอง…
“ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ”