7 กรกฎาคม 2563
| โดย [บทบรรณาธิการ]
605
ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยทรุดหนัก ภาครัฐจะต้องหาแนวทางลดผลกระทบให้กับผู้คน ภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ค้ำยันภาคธุรกิจไทยให้ผ่านขวากหนามแบบเจ็บน้อยที่สุด เพราะหากเรียลเซคเตอร์มีอันเป็นไปย่อมเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่
แม้ว่าสถานการณ์โควิดในไทยจะคลี่คลาย โดยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมานานกว่า 30 วัน ทว่าผลจากการ “ล็อกดาวน์” ประเทศมานานกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
สร้างความบอบช้ำต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่าที่สุดแล้วการทำตัวเป็นเด็กดี จะได้รับการ “ตบรางวัล” จากรัฐที่ประกาศคลายล็อกธุรกิจต่างๆ ในทุกระยะแล้ว เหลือเพียงการเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจน้อยใหญ่เริ่มเปิดหน้าร้านค้าขาย ภายใต้มาตรการเข้มงวดด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม
โดยในระยะแรกของการคลายล็อก เราเห็นปรากฏการณ์ปลากระดี่ได้น้ำ ผ่อนคลายไม่ต้องกักตัวเองอยู่ในบ้านแบบเข้มข้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศคึกคัก โดยเฉพาะการขับรถไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในระยะการเดินทาง 2-3 ชั่วโมง ตามเมืองชายทะเล อย่างพัทยา ชะอำ หัวหิน ที่อัตราการจองห้องพักหนาแน่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่เว้นช่วงวันหยุดยาวที่เพิ่งผ่านพ้น
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ทรุดหนัก ในขณะที่ในระยะ “ครึ่งปีหลัง” จากนี้ ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจ มนุษย์เงินเดือน แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ ยังแทบมองไม่เห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นอนาคต ทำได้อย่างดีก็แค่ “ประคองตัว” ไม่ให้ทรุดกว่าที่เป็นอยู่ หรือหากจะดีขึ้นก็ดีขึ้นไม่มาก เป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้หลักจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากภาคส่งออก และการท่องเที่ยว รวมกันกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่โควิดพ่นพิษไปทั่วโลก เมื่อเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบหนัก เศรษฐกิจไทยจึงหนีไม่พ้นผลกระทบหนักเช่นกัน
ดังนั้นจึงน่ากังวลว่า สถานการณ์ “กำลังซื้อ” หลังพ้นช่วงยินดีปรีดาจากการคลายล็อกจะเป็นอย่างไร ในเมื่อเงินในกระเป๋านอกจากจะไม่เพิ่มขึ้น ยังมีแนวโน้มลดลง เท่ากับคนจนลง ทำให้ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากกำลังซื้อในประเทศในนาทีนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ผสมโรงกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภาคส่วนต่างๆ ทยอยถึงกำหนด ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ เยียวยาเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกันตน เรียกว่า กำแพงที่ใช้ยันผลกระทบโควิดกำลังจะถูกทลายลง เผยให้เห็น “ข้อเท็จจริง” ของเศรษฐกิจไทยแบบเต็มตาในไตรมาส 3 กับภาวะสุดอั้นของภาคธุรกิจ ทำให้เกิดการปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานจากชั่วคราวเป็นถาวร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
เราเห็นว่าในภาวะที่ยากลำบากนี้ หนีไม่พ้นที่ภาครัฐจะต้องหาแนวทางลดผลกระทบให้กับผู้คน ภายใต้เครื่องไม้ เครื่องมือที่มีอยู่ ทั้งนโยบายการเงิน และการคลัง ค้ำยัน พยุงภาคธุรกิจไทยผ่านขวากหนามแหลมคมแบบบาดเจ็บน้อยที่สุด นั่นเพราะหากภาคธุรกิจที่แท้จริง (เรียลเซคเตอร์) เกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายตลอดซัพพลายเชน มีอันเป็นไป ย่อมเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ระยะเวลา 2-3 ปีที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด น่าจะพูดกันนานกว่านั้น