28 มิถุนายน 2563
| โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
1,210
ส่องการเติบโตของธุรกิจ “โค้ชชิ่ง” เบื้องหลังการพัฒนาองค์กร และบุคลากร ที่ธุรกิจยุคใหม่นิยมไม่แพ้ “ไลฟ์โค้ช”
“ไลฟ์โค้ช” อีกหนึ่งลักษณะธุรกิจการ “โค้ช” ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และดราม่าล่าสุดของ ไลฟ์โค้ช “ฌอน บูรณะหิรัญ” หลังจากอัดคลิป “ผมได้ปลูกป่ากับท่านประวิตร” ที่มีใจความสำคัญว่ารองนายกรัฐมนตรีท่านนี้ เป็นคนน่ารักหลังจากได้ทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกันในครั้งนั้น
หากมองผ่านประเด็นดราม่า และมองลึกลงไปถึงความนิยมของ “ไลฟ์โค้ช” ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการคำแนะนำของคนในยุคนี้ ที่ต้องการเติบโตในมิติต่างๆ ทั้งชีวิต การเงิน และการยอมรับคล้ายๆ กัน ไม่ต่างจากแวดวงธุรกิจ ที่ต้องการ “โค้ช” ในบางครั้ง เพื่อช่วยชี้แนะและผลักดันให้องค์ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในช่วงที่ผ่านจึงไม่ได้มีแค่ “ไลฟ์โค้ช” เท่านั้นที่เติบโต แต่ธุรกิจให้คำปรึกษา หรือ “โค้ชชิ่ง” ในลักษณะอื่นๆ เติบโตอย่างรวดในทิศทางเดียวกัน หนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจ “โค้ชชิ่ง” สำหรับองค์กร ที่ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนแนวทางบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จตามเป้า
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” พาไปทำความรู้จักกับ “การโค้ชขององค์กรและธุรกิจ” ว่า มีความสำคัญกับความสำเร็จขององค์กรอย่างไรบ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ กับดราม่าเรื่องเงินทอง และธุรกิจที่ขาดทุนรัวๆ 2 ปีต่อเนื่อง!
- การโค้ช (Coaching) คืออะไร
การโค้ช (Coaching) คือกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างโค้ชซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยเหลือ ชวนคิด หรือปลดล็อคบางอย่างในตัวผู้รับการโค้ช (Coachee) ให้มีศักยภาพสูงขึ้น หรือมีความสุขอย่างที่ต้องการ ผ่านวิธีการและเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ผู้รับการโค้ช ได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ตระหนักในตัวเอง เปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง และลงมือทำด้วยความคิด ความถนัด ความสามารถตัวเอง การโค้ช จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง โค้ช และผู้รับการโค้ชให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้
ปัจจุบันการโค้ชภายในองค์กรมีสัดสวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 80% เนื่องจากการโค้ชได้กระแสตอบรับในวงกว้างว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ
- การเติบโตของธุรกิจ “โค้ชชิ่ง”
พจนารถ ซีบังเกิด ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทจิมมี่ เดอะ โค้ช เปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันธุรกิจการโค้ช (Coaching) ในประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จากการที่ตลาดระดับองค์กรมีความเข้าใจและใช้ศาสตร์การโค้ชในการพัฒนาผู้บริหารมากขึ้น ในช่วง 10 ปีก่อน มีผู้บริหารเพียง 5% ที่เลือกใช้การโค้ชมาพัฒนาองค์กร
แต่ในระยะเวลา 5–6 ปีที่ผ่านมา แผนกทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource: HR) และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้เลือกใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือใหม่ในการพัฒนาบุคลากร นอกเหนือจากการจัดสัมมนา และการฝึกอบรมต่างๆ ส่งผลให้ในปัจจุบันการโค้ชภายในองค์กรมีสัดสวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 80%
โดยจากเดิมที่เป็นการโค้ชสำหรับผู้บริหารระดับสูง ได้ขยายฐานลงมาถึงระดับผู้จัดการ และผู้นำทีม (Team Leader) เนื่องจากการโค้ชได้กระแสตอบรับในวงกว้างว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ
- “โค้ชชิ่ง” ยุคดิจิทัล
ยิ่งความต้องการคำแนะนำในการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ยิ่งเป็นโอกาสของธุรกิจที่ปรึกษา และโค้ชชิ่ง ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจยุคใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร เปิดโอกาสให้เกิดโค้ชชิ่งออนไลน์ ที่ช่วยตอบโจทย์ ตรงจุด และสะดวกรวดเร็วกว่า
อาทิ “สลิงชอท กรุ๊ป” บริษัทที่ปรึกษา และให้บริการด้านการพัฒนาผู้นำและการพัฒนาองค์กร ที่จับมือโกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) เปิดตัว “OMG แพลตฟอร์มโค้ชชิ่งออนดีมานด์” รายแรกในไทย
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลนท์ที่ช่วยผู้นำองค์กรก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น เช่นหลักสูตร “Coaching In Transition” การโค้ชออนไลน์จากโค้ชระดับผู้บริหารมากประสบการณ์ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงในราคาที่จับต้องได้ ตอบโจทย์ธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องการโค้ชช่วยชี้แนะเป็นจุดๆ มากกว่าการซื้อคอร์สใหญ่เหมาจ่ายแบบเดิมๆ
หัวหน้าที่มีชุดความคิดแบบโค้ชจะเน้นไปที่การชี้แนะ หรือช่วยตั้งคำถามที่ทำให้ลูกน้องสามารถไปคิดต่อด้วยตัวเองได้ ว่าควรที่จะจัดการหรือแก้ปัญหานี้อย่างไร
- โค้ชชิ่ง ภายในองค์กร
“การโค้ชชิ่งถือเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งที่คนในองค์กรควรจะได้รับ” นิยามความสำคัญของการโค้ชชิ่งในองค์กรที่ รวิศ หาญอุตสาหะ CEO Srichand United Dispensary Co.,Ltd. เขียนไว้ในบทความ “Coaching การโค้ชชิ่งในองค์กร” ในเว็บไซต์ MISSION TO THE MOON
ขยายความเพิ่มเติมอ้างถึง จอห์น วิทมอร์ หนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องการโค้ช ที่กล่าวไว้ว่า “ต่อจากนี้สิ่งที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้คือคน ในอดีตที่ผ่านมาเรามักให้ผลตอบแทนเป็นเงินบ้าง เป็นงานที่มั่นคง หรือความเป็น Community แต่วันนี้เราต้องให้การเทรนนิ่ง การโค้ชชิ่ง การพัฒนากับคนของเราด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการโค้ชชิ่งถ้าหากทำอย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้คนที่ทำงานร่วมกับเราหาความหมายที่สูงขึ้นไปอีก ความหมายของการใช้ชีวิต เขาทำงานนี้อยู่เพื่ออะไร อะไรที่เป็นจุดยืนของเขา หรือแม้แต่คำถามที่ลึกซึ้งอย่าง เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร การโค้ชชิ่งที่แท้จริงต้องทำไปให้ถึงจุดนั้น”
เรื่องของการโค้ชชิ่งถ้าหากทำอย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้คนที่ทำงานร่วมกับเราหาความหมายที่สูงขึ้นไปอีก ความหมายของการใช้ชีวิต เขาทำงานนี้อยู่เพื่ออะไร อะไรที่เป็นจุดยืนของเขา หรือแม้แต่คำถามที่ลึกซึ้งอย่าง เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร การโค้ชชิ่งที่แท้จริงต้องทำไปให้ถึงจุดนั้น
ทั้งนี้ การโค้ชชิ่ง มีทั้งรูปแบบการใช้ทีมงานนอกองค์กร และโค้ชชิ่งภายใน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วควรทำโดยภายใน คือ มาจากผู้จัดการและผู้บริหารภายในองค์กรเอง เพราะหลายอย่างควรทำอย่างต่อเนื่อง จึงยากที่จะจ้างคนภายนอกได้ตลอด รวมถึงของบริบทในตัวงานที่คนภายในจะเข้าใจได้ดีกว่า
นอกจากนี้ รวิศ ยังเขียนว่า “หัวหน้าที่ดีควรมีพื้นฐานความคิดแบบโค้ช หัวหน้าที่มี Coach Based Mindset (พื้นฐานความคิดแบบโค้ช) เวลาลูกน้องมีปัญหา แทนที่จะบอกเป็นข้อๆ 1 2 3 4 หัวหน้าที่มีชุดความคิดแบบโค้ชจะเน้นไปที่การชี้แนะ หรือช่วยตั้งคำถามที่ทำให้ลูกน้องสามารถไปคิดต่อด้วยตัวเองได้ ว่าควรที่จะจัดการหรือแก้ปัญหานี้อย่างไร”
“การโค้ชชิ่งถือเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งที่คนในองค์กรควรจะได้รับ”
- ทุกองค์กรต้อง “โค้ชชิ่ง” ?
เพราะ “โค้ชชิ่ง” ไม่มีสูตรสำเร็จ ที่การันตีว่าธุรกิจมีการโค้ชจะประสบความสำเร็จ แต่การดึงศักยภาพของทีมงานออกมาจนผลักดันงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเต็มที่ คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จของธุรกิจ อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของธุรกิจและองค์กรยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำ คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้อย่างดี เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน
อ้างอิง: Hcdcoaching Rubberplasmedia Newsplus MISSION TO THE MOON