กมธ.กีฬา สภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันและศึกษาแนวทางยกร่าง พ.ร.บ. “อีสปอร์ต” หลังนั่งถกร่วมสมาคมกีฬาอีสปอร์ตผู้พิการไทย-สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย – กกท. มีความเห็นร่วมหนุนอีสปอร์ตเป็นอุตสาหกรรมการกีฬา สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการจะมีชีวิตใหม่ในโลกเสมือนจริง
พฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2563 เวลา 19.00 น.
ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในการระชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.)419 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย)มีคณะกรรมาธิการกีฬา,ที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ที่ประชุมครั้งนี้ได้ดำเนินการพิจารณาศึกษาข้อมูลและแนวทางในการยกร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์หรือ Electronic Sport (E-Sport) ซึ่ง นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้เสนอ มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ เรืองเวช รองผู้ว่า กกท.ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์, นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย,นายไมตรี คงเรือง เลขาธิการและประชาสัมพันธ์ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, นายไพฑูรย์ แซ่จิ้ว นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตคนพิการไทย และ นายจิรยศ เทพพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง สนามแข่งขันกีฬา Thailand E-Sport Arena (ผู้ประกอบธุรกิจ E-Sport)
การหารือครั้งนี้ต้องการที่จะยกร่าง พ.ร.บ.อีสปอร์ต เพื่อพัฒนาศักยภาพกีฬาอีสปอร์ตในทุกด้าน เพราะในขณะนี้มีความพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่า “อีสปอร์ต” ไปเกี่ยวข้องกับเกมพนันออนไลน์ ซึ่งกีฬาชนิดนี้อยู่ในการดูแลของ การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งมองว่า กีฬาชนิดนี้เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทรงคุณค่า ถือเป็นอุตสาหกรรมการกีฬาขนาดใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ทางการกีฬาฯ ได้แบ่งผู้เล่นกีฬาชนิดนี้เป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ต้องมีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการกีฬา 2.กลุ่มเล่นเพื่อนันทนาการ 3.กลุ่มปัญหาเด็กติดเกม และเพื่อให้ประเทศไทยได้มีโอกาสส่งนักกีฬาในฐานะทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการแข่งขันและพัฒนานักกีฬาอีสปอร์ตไปไกลมากแล้ว จึงได้มีการประกาศรับรองให้เป็นกีฬาไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ทำให้คำว่ากีฬาที่ขึ้นชื่อว่า อีสปอร์ต ต้องเป็นเกมกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันอย่างมีระบบมาตรฐานเท่านั้น เมื่อมีการประกาศเป็นเกมกีฬา กกท.ได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับกีฬาชนิดนี้ไปแล้ว พร้อมกับการเสนอให้มีศูนย์การเรียนรู้เพื่อพุ่งเป้าผ่านกุศโลบายผ่านตัวเกมให้มีการพัฒนามากขึ้น แต่ติดปัญหาเกมกีฬาอีสปอร์ต ยังไม่ถูกกฎหมาย คือไม่มี พ.ร.บ.รองรับ และยังติดปัญหาการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆที่มองว่ากีฬาอีสปอร์ตจะไปกระทบต่อเยาวชน
นายณัฐวุฒิ เรืองเวช รองผู้ว่า กกท.ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ กล่าวว่า ในตัวกฎหมาย กกท. ได้รับเชิญไปเพียงครั้งเดียว และได้พูดคุยกับนายกสมาคมอีสปอร์ตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.อีสปอร์ต อย่างชัดเจน ซึ่งการยกร่าง พ.ร.บ.อีสปอร์ต จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบสิทธิ์ของประชาชนจากเกมกีฬาชนิดนี้
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เลขานุการคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า สิ่งที่มีการพูดคุยในเรื่องกระทบสิทธิ์นั้นเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่พุ่งเป้าไปที่เด็กติดเกม แต่การเล่นเกมจริงๆแล้ว เป็นปัญหาที่เกิดจากการเล่นเกมจริงหรือไม่ เพราะตัวตนเองก็เล่นเกมมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ถึงปัจจุบันก็ยังเล่นและที่ผ่านมาก็ไม่เคยเสียการเรียน อีกทั้งในด้านสุขภาพก็ไม่มีผลกระทบ หรือแม้แต่ว่าคำว่ากีฬา อาจจะมองเห็นเพียงว่าต้องมีเหงื่อหรือการเล่นกลางแจ้ง แต่หากถามย้อนกลับว่าในเกมกีฬาหมากล้อมหรือไพ่ ทำไมถึงจัดเป็นกีฬาได้ เพราะเข้ากรอบเรื่องนันทนาการนั่นเอง
“แต่สิ่งที่ต้องฝากเกี่ยวกับการดูแลร่วมกันและร่วมที่จะมีกฎหมายรองรับ เชื่อว่าในอนาคตกีฬาชนิดนี้จะมีการพัฒนามากขึ้นและจะมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงขอให้ สมาคมฯ ต้องดูแลสังคมร่วมกัน ในด้านการควบคุมคงต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองดูแล เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายอีสปอร์ตมาจำกัดสิทธิ์ของใคร”
นายไมตรี คงเรือง เลขาธิการและประชาชนสัมพันธ์ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในด้านกีฬานี้สำหรับคนพิการ นั้นคือการฟื้นฟูผู้พิการถือเป็นความมหัศจรรย์ทางการกีฬา เป็นการเปิดโลกให้ผู้พิการได้กลับคืนสู่สังคมเป็นคนที่มีประโยชน์และมีความสำคัญในครอบครัว สามารถสร้างรายได้ให้กับตน ในโลกออนไลน์นั้นทำให้ผู้พิการเปรียบเสมือนเป็นคนปกติ ทั้งที่นักกีฬาแต่ละคนอาจจะมีปัญหาในเรื่องของแขน หรือขา หรือไม่มีมือและอาจจะเป็นกลุ่มที่เป็นอัมพาตแต่ก็สามารรถเล่นกีฬานี้ได้
“ความภาคภูมิใจก็คือการเสริมสร้างศักยภาพผู้พิการ ให้เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์เสมือนจริง ที่นอกจากจะสร้างกิจกรรมก็ยังสร้างความสุขที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขต่อไป จึงขอให้ กมธ.กีฬา สภาผู้แทนราษฎร สนับสนุน พ.ร.บ.อีสปอร์ต และการจัดการแข่งขันให้คนพิการไทยด้วย”
น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล รองประธานคณะกรรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในส่วนตัวไม่สบายใจในฐานะเป็นผู้ปกครองแต่ก็ไม่ต่อต้านเพราะเรื่องของโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ แต่คงต้องฝากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ติดตามหรือหาวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรง
ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.อีสปอร์ต เป็นเรื่องของสภา ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการหารืออย่างละเอียดรอบคอบกันต่อไป จึงต้องฝากให้ทาง กกท. กลับไปติดตามดูแลรายละเอียดควบคู่กันต่อไปด้วย
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
100%
-
ไม่เห็นด้วย
0%