26 กรกฎาคม 2563
| โดย ดาริน โชสูงเนิน
205
เมื่อความไม่แน่นอนยังปกคุมการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภค บ่งชี้ผ่านอาจมีโอกาสเกิดระบาดของโควิด ระลอก 2 ‘บุญยง ตันสกุล’ ซีอีโอ ‘เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป’ เผยลดปันผล-เงินลงทุน หวังรักษาเสถียรภาพและบริหารกระแสเงิน ส่งซิกปีนี้พลิกกำไรชัวร์
ทันที ! ที่ภาครัฐใช้ ‘มาตรการปิดเมือง’ (Lock down) เพื่อสกัดกั้นการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ‘โควิด-19’ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้บริการเฉกเช่นปกติ และหนึ่งในบริษัทที่รับผลกระทบยกให้ บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีบริษัทแกน คือ บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ ZEN Musha และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 ‘พลิกขาดทุนสุทธิ’ 44.22 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 ที่คาดว่าจะเป็นช่วงที่ ‘ต่ำสุด’ ของปี 2563 ! เนื่องจากเป็นช่วงที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์เต็มๆ
‘ครึ่งปีแรกผลประกอบการขาดทุนสุทธิแน่นอน แต่คาดว่าทั้งปี 2563 จะพลิกกำไรสุทธิ หลังเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยในภาพรวมร้านอาหารทุกแบรนด์ของ ZEN ถือว่าฟื้นตัวได้เร็วแบบ V Shape อีกด้วย’
‘บุญยง ตันสกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 บริษัทปรับแผนธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอก 2 ได้ สะท้อนผ่านบริษัทได้มีการ ‘ปรับลดอัตราการจ่ายปันผล’ ของ 2562 จากเดิมที่ 0.45 บาทต่อหุ้น เหลือ 0.20 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพและบริหารกระแสเงินสดภายในช่วงของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังเปิดโอกาสศึกษาการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งยังมีความสนใจที่จะลงทุนการควบรวมกิจการ (M&A) รวมทั้งการพัฒนาแบรนด์ใหม่ และการนำแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาพัฒนาเพิ่มเติม ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมของช่วงเวลา โดยปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต
ปัจจุบัน เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ธุรกิจร้านอาหาร รวม 255 สาขา แบ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ จำนวน 88 สาขา และร้านอาหารไทยอีก 6 แบรนด์ จำนวน 167 สาขา
2.ธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจุบันมี 143 สาขา และ 3.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ได้แก่ ธุรกิจการบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และการบริการจัดเลี้ยง (Catering) ธุรกิจการให้บริการบริหารร้านอาหาร (Restaurant Consultancy) และ ธุรกิจอาหารค้าปลีก เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-Eat) เป็นต้น
เขา บอกต่อว่า สำหรับภาพรวมรายได้ธุรกิจอาหารในอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า ‘4 แสนล้านบาท’ โดยเฉลี่ยคงหายไปอย่างน้อย 10% เนื่องจากที่ผ่านมา ‘กำลังซื้อ’ ของผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงกันในทุกภาคส่วน และส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการบริโภคภาคเอกชน ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้ในระดับหนึ่ง
โดย คาดว่าในครึ่งปีหลังบริษัทจะพลิกกลับมา ‘เทิร์นอะราวด์’ จากช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าผลประกอบการ ‘ขาดทุนสุทธิ’ หลังจากไตรมาส 1 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 44.22 ล้านบาท โดยปัจจัย ‘กดดัน’ ผลประกอบการหลักมาจากยอดขายในช่วง 2 เดือน (เม.ย.-พ.ค.2563) ที่มีการล็อกดาวน์ร้านอาหารทั่วประเทศ หายไปประมาณ 400 ล้านบาท
ขณะที่ ในครึ่งปีหลัง 2563 จะสามารถทำผลดำเนินงานพลิกกลับเป็นกำไร เนื่องจากในช่วงเดือนมิ.ย.2563 บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจถึงจุดคุ้มทุนแล้ว หลังในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาขาดทุน และในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จะเป็นจุดต่ำสุดในการดำเนินงานปีนี้ ปัจจุบันร้านอาหารในเครือของ ZEN ทั้งหมดกว่า 10 แบรนด์ ซึ่งอยู่ทั้งในและนอกศูนย์การค้า ส่วนใหญ่มีลูกค้ากลับมาใช้บริการนั่งทานภายในร้านเฉลี่ย 80-85% และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 90-95%
‘ในภาพรวมของรายได้ธุรกิจอาหารในอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท เฉลี่ยคงหดหายไปอย่างน้อย 10% ซึ่งของเรารายได้ปีนี้คงหายไป 15-20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนการระบาดรอบ 2 มองว่ากระทบในวงจำกัด คนไทยปรับตัวได้ดีมากขึ้น อุปกรณ์การป้องกันพร้อมมากขึ้น’
ทั้งนี้ ภาพรวมร้านอาหารทุกแบรนด์ของ ZEN ถือว่าฟื้นตัวได้เร็วแบบ V Shape เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นกับแบรนด์มากขึ้น สามารถเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศและใช้ชีวิตนอกบ้านได้ หลังจากรัฐบาลทยอยผ่อนคลายให้ธุรกิจต่าง ๆ ทยอยเปิดบริการ และไม่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศอย่างต่อเนื่องหลายวัน จึงมั่นใจว่าบริษัทจะกลับมาทำผลการดำเนินงานได้ดีในครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปทำให้สัดส่วนรายได้ ‘เดลิเวอรี่’ (delivery) ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% หรือราว 300 ล้านบาท ของยอดขายรวม จากปีก่อนที่มีสัดส่วนรายได้ 5% เป็นผลจากการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางดิลิเวอรี่อย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ประกอบด้วย Grab Food , LINE MAN, Get, Food Panda และสั่งอาหารออนไลน์ร้านในเครือของบริษัทผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1376 Delivery และพัฒนาเมนูใหม่ภายใต้ชื่อ Chicken Z (ชิกเก้นซี) ไก่ทอดสูตรลับฉบับเซ็นที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อให้บริการลูกค้าสั่งซื้อแบบดิลิเวอรี่โดยเฉพาะ ปัจจุบันมี 12 สาขาที่ให้บริการแบบดิลิเวอรี่ได้
ขณะเดียวกันบริษัทยังมองการขยายสาขาร้านอาหารไทยตามสั่ง ‘แบรนด์เขียง’ เน้นโมเดลแฟรนไชส์ ซึ่งแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจาก โรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นการสร้างโอกาสแก่ผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร โดยมีโอกาสคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 2-3 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา เปิดสาขาเขียงเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 แห่ง ส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมดกว่า 70 แห่ง และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 100 แห่ง ซึ่งจะเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยตามสั่งที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทยโดยบริษัทจะเริ่มทำโมเดลธุรกิจ ด้วยการนำแบรนด์เขียงไปตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
ยกตัวอย่าง พื้นที่หน้าหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ เราก็นำแบรนด์ของเราไปตั้งตรงนั้นเลย !! เปรียบประหนึ่งเป็นครัวของหมู่บ้าน จากปัจจุบันมีร้านอาหารแบรนด์ไทยในปั้มน้ำมัน PTT ซึ่งบริเวณนั้นมีหมู่บ้านจัดสรร 4 โครงการ
‘ในครึ่งปีหลังบริษัทขยายสาขาหลักอีก 2 แบรนด์ จากครึ่งปีแรกใช้เงินในการขยายสาขาไปแล้ว 25 ล้านบาทสำหรับสาขาหลักใหม่ 2 แห่ง’
ส่วนแผนการลงทุนในปี 2563 บริษัทได้มีการปรับลดการใช้เงินลงทุนลงเหลือ 100 ล้านบาทจากเดิมที่วางไว้ที่ราว 200 ล้านบาท โดยงบลงทุนส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการปรับร้านอาหารบางสาขาให้เป็นรูปแบบ Virtual Kitchen หรือครัวกลางที่สามารถรองรับการปรุงอาหารแบรนด์อื่นในเครือเซ็นกรุ๊ปได้ เช่น ร้านลาวญวณหรือตำมั่วบางสาขาที่สามารถปรุงอาหารแบรนด์เขียงได้ เพื่อเพิ่มยอดขายในแต่ละสาขา เป็นต้น รวมถึงเงินลงทุนบางส่วนจะนำไปใช้ในการขยายสาขาแบรนด์ร้านอาหาร AKA และ On The Table แบรนด์ละ 1 สาขา ในช่วงที่เหลือของปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินมาตรการความปลอดภัยสูงสุดในร้านอาหารทุกสาขาอย่างเข้มงวด โดยวางมาตรการ 6S เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ได้แก่ 1.Supply Chain Control ควบคุมแหล่งที่มาของวัตถุดิบและการจัดส่งตามมาตรฐาน GMP 2.System มีทีมตรวจสอบการปฎิบัติงานเพื่อควบคุมมาตรฐานการปรุงอาหารที่สุกสะอาด ปลอดภัย เช่น พนักงานเข้มงวดในการจัดเก็บอาหาร และอุปกรณ์ทำอาหารให้ถูกสุขอนามัย เป็นต้น
3. Staff Screening พนักงานต้องผ่านการคัดกรองก่อนเข้างานและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันระหว่างการทำงาน 4. Social Distancing จัดผังที่นั่งในร้านมีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรและตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส สแกนแอปพลิเคชั่นไทยชนะ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล 5. Separate Equipment อุปกรณ์ทานอาหารของลูกค้าต้องใช้แยกกัน และได้รับการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน
และ 6. Safe Delivery เมนูที่ลูกค้าซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ ต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของร้านส่วนกรณีบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) มีแผนจะขายกิจการร้านไก่ทอดเคเอฟซี (KFC) ในไทยจำนวน 200 สาขา มูลค่าราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทยังไม่สนใจเข้าซื้อ เนื่องจากการแข่งขันแฟรนไชส์ดังกล่าว มีอยู่ 3 ราย ยังรุนแรง ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และบริษัทไม่มีความถนัดในธุรกิจดังกล่าว
ท้ายสุด ‘บุญยง’ บอกว่า ธุรกิจของ ZEN ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ หากเศรษฐกิจกลับมาปกติเชื่อว่าธุรกิจร้านอาหารจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อนาคตจะมีแบรนด์อาหารมากขึ้น โดยเป็นการซื้อแบรนด์และพัฒนาแบบของตัวเอง