การทำศพแบบ Natural Organic Reduction หรือการลดรูปแบบอินทรีย์ตามธรรมชาติ มีผลบังคับใช้ให้เป็นวิธีทำศพรูปแบบใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วในรัฐวอชิงตัน ของสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่ บริษัท Recompose ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอบริการเปลี่ยนศพเป็นปุ๋ยมนุษย์ นำเสนอแนวคิดการทำศพที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อปีที่ผ่านมา แต่กว่าบริการนี้จะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบก็น่าจะเป็นต้นปีหน้าหรือประมาณปี 2021
สำหรับการเปลี่ยนศพให้เป็นปุ๋ย แคทรินา สเปด CEO ของ Recompose อธิบายว่า บริการแนวใหม่นี้จะเปลี่ยนร่างผู้วายชนม์ให้กลายเป็นดินหรือปุ๋ยมนุษย์ปริมาณ 1 ลูกบาศก์เมตรภายใน 30 วัน โดยกระบวนการจะเริ่มจากการนำร่างของผู้เสียชีวิต พูดง่ายๆก็คือ “ศพ” นั่นเอง ใส่ในกล่องรูป 6 เหลี่ยม เป็นกล่องที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกหลายครั้ง ก่อนจะกลบด้วยเศษไม้ชิ้นเล็กๆ พืชอัลฟัลฟา และฟาง อย่างพิถีพิถัน
แคทรินา อธิบายว่า การกลบร่างดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆแล้วมีกระบวนการที่ต้องทำหลายอย่าง โดยการกลบฝังต้องไม่ทำให้แน่นจนเกินไป เพื่อให้ออกซิเจนผ่านได้สะดวก ที่จะช่วยให้การย่อยสลายของร่างและการเติบโตของจุลินทรีย์กับแบคทีเรียชั้นดี
“สิ่งที่ต่างจากการฝังศพทั่วไป ก็คือ เมื่อครบกำหนด 30 วัน ทางบริษัทก็จะส่งคืนปุ๋ยให้กับญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อนำไปเป็นปุ๋ยชั้นดี สำหรับนำไปทำสวนและเพาะปลูก ซึ่งจะเป็นการทำให้ญาติหรือครอบครัวของผู้ตายได้มีความทรงจำที่ดีกับต้นไม้ทุกต้น ดอกไม้ทุกดอกที่ใช้ปุ๋ยจากร่างของคนที่ตนรัก”
CEO ของ Recompose บอกว่า สถานที่ให้บริการของ Recompose แห่งแรกจะอยู่ที่ซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน โดยมีความสามารถที่พร้อมให้บริการการเปลี่ยนร่างมนุษย์ให้เป็นปุ๋ยได้ 75 ร่าง ในเวลาเดียวกัน โดยค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 5,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณกว่า 160,000 บาท
กระบวนการนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นกระบวนการจัดการศพที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และใช้พลังงานเพียง 1 ใน 8 ของการทำศพแบบธรรมดาเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 1 เมตริกตัน
ชื่ออย่างเป็นทางการของการเปลี่ยน “ศพ” ให้เป็น ปุ๋ย คือ Natural Organic Reduction โดยรัฐวอชิงตันถือเป็นแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้ใช้วิธีนี้ในการจัดการศพได้
แคทรินา บอกว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนี่คืออีกวิธีหนึ่งที่เป็นตัวเลือก โดยใช้วงจรของธรรมชาติในการจัดการกับชีวิตและร่างกาย วิธีการทำศพแบบนี้นับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการฉีดน้ำยาให้ศพแล้วใส่โลงฝังดิน หรือวิธีฌาปนกิจที่ต้องมีการเผาไหม้สิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล
ธุรกิจนี้เป็นที่สนใจของคนอเมริกันจำนวนไม่น้อย ที่มองว่า นี่คือทางเลือกใหม่นอกจากการฝังหรือเผาศพ ที่สำคัญคือ พวกเขาสามารถระบุหรือแจ้งแก่ญาติและครอบครัวไว้ก่อนตายได้ว่า ให้จัดการศพของพวกเขาแบบไหน
ก่อนหน้านี้ เคยมีการฝังศพแบบนี้อย่างไม่เป็นทางการมาก่อน โดยมีข้อมูลเปิดเผยว่า ร่างของนักแสดงอเมริกัน ลุค แพร์รี ถูกฝังลงในดินพร้อมกับเห็ดชนิดพิเศษโดยบริษัท Coeio โดยเห็ดชนิดดังกล่าวจะช่วยนำสารอาหารจากร่างคนออกไปเป็นสารอาหารให้พืชในบริเวณใกล้ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในสหรัฐอเมริกาเอง มีการทดลองในลักษณะเดียวกันนี้ถึง 6 แห่ง โดยล่าสุดเมื่อปี 2017 ที่รัฐฟลอริดา คณะนิติมานุษยวิทยา (Forensic Anthropology) ของมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา ได้ทดลองทำห้องปฏิบัติการกลางแจ้ง หรือที่เรียกว่า “ฟาร์มศพ” ในพื้นที่ห่างไกลนอกเมืองแทมปา เพื่อทำการศึกษากระบวนการเน่าสลายของศพ และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบศพ ที่คาดว่าการศึกษานี้จะนำไปใช้ต่อยอดในการไขคดีฆาตกรรม และช่วยยกระดับเทคนิคทางนิติเวชศาสตร์ในการระบุอัตลักษณ์บุคคลได้ ซึ่งการทดลองลักษณะนี้ทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย แคนาดา และสหราชอาณาจักร
ส่วนกระบวนการย่อยสลายศพให้เป็นปุ๋ยในลักษณะของบริษัท Recompose มีการทำมาก่อนหน้านี้อย่างถูกกฎหมายแล้วในสวีเดน ขณะที่ในสหราชอาณาจักร อนุญาตให้มีการฝังร่างแบบไม่ใช้โลงศพ หรือให้ใช้โลงศพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ.