เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ลำปาง – “วราวุธ ศิลปอาชา-รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ” เร่งประสานกรมศิลป์เดินหน้าซ่อม “บ้านหลุยส์-ลำปาง” ต่อให้เสร็จ หลังต้องหยุดชั่วคราวกันซ้ำรอยบ้านบอมเบย์เบอร์มา ก่อนวางแผนพัฒนาพื้นที่-ข้าวของเครื่องใช้หนุนท่องเที่ยวชุมชน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ได้เข้ารับฟังการบรรยายถึงความเป็นมาและความก้าวหน้าของการซ่อมแซม “บ้านหลุยส์” ซึ่งมีอายุเก่าแก่ 114 ปี ห้องประชุมสำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน จ.ลำปาง สุดสัปดาห์นี้ หลังกรมศิลปากรสั่งหยุดซ่อมแซมชั่วคราวกว่า 1 เดือน เพราะเกรงว่าจะซ้ำรอยการปรับปรุงบ้านบอมเบย์เบอร์มา จ.แพร่ แต่สุดท้ายกลับถูกรื้อถอนเหลือแต่ซาก
นายภพปภพ ลรรพรัตน์ ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน นายประทีป ประคองวงค์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้ร่วมให้ข้อมูล รวมทั้ง ศ.ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร ทายาทของครอบครัวที่เคยร่วมงานกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มา และหลุยส์ ได้มาเล่าเรื่องประวัติการสัมปทานไม้ในประเทศและภาคเหนือตั้งแต่อดีตให้ได้รับทราบว่าสมัยก่อนชาวต่างชาติได้เข้ามาสัมปทานตัดไม้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด โดยใช้ทั้งควายลาก ช้างลาก และทำรางรถไฟขึ้นเพื่อใช้ในการลากซุงขนาดใหญ่ด้วย
จากการตรวจสอบรูปแบบต่างๆ ของบ้านหลุยส์พบว่าไม่มีปัญหา เหลือเพียงข้อกำหนดเรื่องสีและรายละเอียดปลีกย่อยอีกเพียงเล็กน้อยที่กรมศิลป์ได้ระบุไว้เท่านั้น คาดว่าจะสามารถทำการซ่อมแซมต่อได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนสัญญาเดิมที่กำหนดให้ซ่อมแซมแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม แต่หลังจากที่ถูกสั่งให้หยุดไปกว่า 1 เดือนก็คงมีการขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 63
ทั้งนี้ นายวราวุธได้ให้แนวคิดว่าการซ่อมแซมภายในอาคารที่มองไม่เห็นสามารถใช้อะไรก็ได้ที่ทำให้มั่นคงแข็งแรง แต่ส่วนที่ปรากฏมองเห็นได้จากภายนอกต้องพยายามให้วัสดุเหมือนเดิมให้มากที่สุด
จากนั้นคณะฯ ได้นั่งรถม้า-สัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง มุ่งหน้าไปยังบ้านหลุยส์ ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เข้ายื่นหนังสือขอให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมบ้านหลุยส์ต่อให้เสร็จ เพราะชุมชนท่ามะโอที่บ้านหลุยส์ตั้งอยู่เป็นชุมชนท่องเที่ยว หากปล่อยให้การซ่อมแซมล่าช้าออกไปมากกว่านี้จะส่งผลเสียทั้งความทรุดโทรมและการท่องเที่ยวชุมชนด้วย
นายวราวุธได้กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านที่มาต้อนรับและยื่นหนังสือว่า เดิมตอนที่ตนเป็นวัยรุ่นเห็นพ่ออนุรักษ์รักษาสิ่งเก่าๆ ก็ไม่เข้าใจ ยังสงสัยว่าทำไมถึงไม่พัฒนาสุพรรณบุรีให้ทันสมัยกว่านี้ แต่พอมาตอนนี้อายุมากขึ้นจึงเข้าใจแล้วว่าการพัฒนามันทำง่าย แต่การที่จะต่อสู้กับกระแสการพัฒนาเพื่อให้คงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์นั้นทำยากกว่ามาก และวันนี้ดีใจที่ได้มาดูบ้านหลุยส์และได้มาพบกับชาวบ้านที่รักหวงแหนและต้องการร่วมกันอนุรักษ์บ้านหลุยส์แห่งนี้ให้อยู่คู่กับลำปางต่อไป
ส่วนของการซ่อมแซมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับกรมศิลป์เพื่อจะให้ดำเนินการซ่อมแซมต่อโดยเร็ว แต่เนื่องจากฝนตกก็มีการนำผ้ามาคลุมหลังคาไว้ก่อนไว้ชั่วคราว ส่วนโครงหลังคาจริงต้องทำโครงและเอากระเบื้องจริงติดกลับขึ้นไปใหม่ แต่กระเบื้องที่ติดกลับขึ้นไปใหม่จะคล้ายคลึงของเดิมที่ไม่ใช่ลอนคู่ และที่สำคัญคือ การบูรณะซ่อมแซมต้องใช้ความละเอียดอ่อนและพิถีพิถันมาก
และเมื่อทำบ้านหลุยส์เสร็จแล้ว ต้องมีการพัฒนาพื้นที่-สิ่งของต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถที่มีอายุมากและเป็นตัวอย่างเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูว่าสมัยก่อนเมืองลำปางได้มีการทำธุรกิจ และพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างไร เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้และรับทราบถึงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ทราบว่าบรรพบุรุษได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไร
โดยเฉพาะอาคารหลังนี้เมื่อได้รับการบูรณะแล้ว เรามีของดีเราก็ต้องนำออกมาอวดให้ชาวโลกได้เห็น ใช้คำว่าพี่น้องชาวโลก เพราะสมบัติที่เรามีอยู่ตรงนี้คงไม่ใช่เป็นแค่ของชาวลำปาง แต่เป็นของพี่น้องคนไทยทุกคน แต่การที่จะพัฒนาพื้นที่แปลงนี้นั้น สิ่งที่สำคัญคือการขอความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่
“ที่นี่เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่มีกลุ่มพี่น้องประชาชนที่เข้มแข็ง ที่เฝ้าคอยดู เป็นห่วงเป็นใย การพัฒนาต่างๆ ในจังหวัดลำปาง สถานที่แห่งนี้จะเดินหน้าไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่กับการทำงานของภาครัฐ การใช้งบประมาณของภาครัฐในแต่ละบาทแต่ละสตางค์”
นายวราวุธบอกว่า ในการเดินทางมาภาคเหนือวันนี้ได้มาดูบ้านหลุยส์ก่อน และจะเดินทางไปแพร่ ซึ่งที่นั่นมีเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเป็นไปอย่างที่พี่น้องประชาชนต้องการ วันนี้เราจึงมาดูตัวอย่างทั้งที่ควรจะเป็นและตัวอย่างที่ควรนำไปพัฒนาเป็นบทเรียนให้เราได้ วันนี้ต้องชื่นชมพี่น้องชาวลำปางที่มีหัวจิตหัวใจที่จะอนุรักษ์และปกป้องสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำปาง ส่วนของเจ้าหน้าที่และกระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะขอดูแลสถานที่แห่งนี้และพัฒนาให้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นศักดิ์เป็นศรีและจิตวิญญาณของพี่น้องชาวลำปางต่อไป