2 สิงหาคม 2563
| โดย สาวิตรี รินวงษ์
8,815
อุบัติเหตุที่ “บอส วรยุทธ อยู่วิทยา” ขับรถด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 และ “สำนักงานอัยการสูงสุด” มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” ทุกข้อกล่าวหา “จุดชนวน” ให้กับสังคมหลากหลายเรื่อง ทั้งการตั้งคำถามถึง “ความยุติธรรม” ในสังคม
แน่นอนประเด็นข้างต้น กำลังสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมของไทย
ทว่า อีกมิติที่ร้อนฉ่าไม่แพ้กัน คือความไม่พอใจของภาคประชาชน สังคม ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับสินค้าของ “กระทิงแดง” และ “Red Bull” ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก (ทำตลาดกว่า 167 ประเทศ) เนื่องจาก “บอส วรยุทธ” เป็นบุตรชายคนเล็กของ “เฉลิม อยู่วิทยา”ทายาทคนโตของเจ้าพ่ออาณาจักรกระทิงแดงผู้ล่วงลับ “เฉลียว อยู่วิทยา”
เมื่อนามสกุลเดียวกัน ทำให้บรรดาพี่น้องในตระกูลอยู่วิทยา ปฏิเสธความสัมพันธ์ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นประชาชนบางส่วนยังพุ่งเป้ากล่าวโทษทั้งตระกูล ลามไปถึง “ธุรกิจครอบครัว” โดยเฉพาะในประเทศไทย ในนามกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) ที่กำลังเผชิญแรงเสียดทานหนัก ทั้งการแบนสินค้าในพอร์ต การเรียกร้องความถูกต้อง ถามหาความรับผิดชอบกรณีนี้
**บอส วรยุทธ เอฟเฟคท์ “อยู่วิทยา” เกินจะรับไหว
ทำให้กลุ่มธุรกิจทีซีพีในประเทศไทย ต้องร่อนจดหมายชี้แจงว่า “บอส วรยุทธ” ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับกลุ่มธุรกิจทีซีพี ทั้งการถือหุ้น การบริหาร แบรนด์สินค้าต่างๆภายใต้กลุ่มธุรกิจ
โดยปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างในกลุ่มธุรกิจทีซีพีมีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ ภาวนา หลั่งธารา และทายาท คือ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, จิรวัฒน์ อยู่วิทยา , ปนัดดา อยู่วิทยา , สุปรียา อยู่วิทยา ,สราวุฒิ อยู่วิทยา และนุชรี อยู่วิทยา” รวมถึงย้ำว่าคณะผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นและพนักงานของกลุ่มธุรกิจทีซีพี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือกระบวนการต่างๆ ของคดีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนบุคคล
ทว่า แรงกดดันยังไม่ลดลง ที่สุดแล้วทายาท “อยู่วิทยา” ทั้งจากภรรยาคนที่ 1 (นกเล็ก สดศรี) และคนที่ 2 (ภาวนา หลั่งธารา) รวม 8 คน ประกอบด้วย สายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา), ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา, สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, จิราวัฒน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา และนุชรี อยู่วิทยา จึงส่งจดหมายเปิดผนึก “ขอโทษสังคม” ที่คนในครอบครัวได้สร้างความโกรธ เกลียด ไม่พอใจ จนเกิดกระแสเรียกร้องของสังคม พร้อมทั้งยอมรับว่า ทุกคนในครอบครัว ไม่สามารถ “ปฏิเสธความสัมพันธ์” ของการเป็นคนหนึ่งในสายเลือดตระกูล “อยู่วิทยา” ได้
นอกจากนี้ “พี่น้อง” ทุกคนได้แสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันถึงการให้ความเคารพกฎหมาย ยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องสามารถสร้างความยุติธรรมให้กับทุกคนด้วยความ “เท่าเทียม” กัน ซึ่งครั้งนี้พวกเขาได้เรียกร้องให้ “วรยุทธ” ออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจต่อ “ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลืออยู่” ตลอดจนสังคมโดยเร็วและถูกต้อง
นั่นเพราะรายนามสมาชิก“อยู่วิทยา”ระบุในจดหมายเปิดผนึกว่าเกินจะ“แบกรับ”มรสุมครั้งนี้ได้
**TCP VS Red Bull
แบ่งธุรกิจคนละ“ซีกโลก”
ทั้งนี้แม้มีจดหมายเปิดผนึกแจงสังคมให้เข้าใจว่า “บอส วรยุทธ” ไม่เกี่ยวกลุ่มธุรกิจทีซีพี แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังไม่เชื่อ ซึ่งบริษัทอาจต้องชี้แจงต่อไป
หากมาดูโครงสร้างการบริหารธุรกิจครอบครัว “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทกลุ่มธุรกิจทีซีพี เคยให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ธุรกิจแบ่งกันดูแล 2 ซีกโลก โดยกลุ่มธุรกิจทีซีพีนั้น ขับเคลื่อนโดยทายาทของ “เฉลียว” กับ “ภาวนา หลั่งธารา” ภรรยาคนที่ 2 ซึ่งพวกเขาจะทำหน้าที่ในการดูแลแบรนด์ “กระทิงแดง” และกุมสูตรหรือ “หัวเชื้อ” ของกระทิงแดงและ Red Bull ทั่วโลก ซึ่งไม่ว่าสินค้าดังกล่าวจะผลิตจากที่ไหน “สูตรลับ” ต้องส่งจากประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้น
โดยขุมทรัพย์การตลาดที่กลุ่มธุรกิจทีซีพีดูแล จะอยู่ในซีกโลกตะวันออกหรือ “เอเชีย” ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีขนาดใหญ่มาก เฉพาะจีนคาดการณ์มูลค่าแตะ 4 แสนล้านบาท ในปี 2566 โตเท่าตัวจากปัจจุบัน
แม้กลุ่มธุรกิจทีซีพี จะคุมตลาดเอเชียไว้แล้ว แต่ยังเปิดโอกาสให้เครื่องดื่มชูกำลังระดับพรีเมี่ยมจาก Red Bull ภายใต้การดูแลของ Red Bull GmbH และ “เฉลิม อยู่วิทยา” พี่คนโตเข้ามาทำตลาดได้ โดยที่กลุ่มธุรกิจทีซีพี จะเน้นตลาดทั่วไป (Mass)
ขณะที่ Red Bull GmbH ซึ่ง “เฉลียว” ได้จับมือกับพันธมิตรชาวออสเตรีย “ดีทริช เมเทสซิทซ์” อดีตการถือหุ้นแบ่งเป็น ตระกูลอยู่วิทยาสัดส่วน 49% ดีทริซ 49% และ “เฉลิม อยู่วิทยา” ประธานกรรมการบริษัท เรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ด กรุงลอนดอน ถืออยู่ 2% จะทำหน้าที่เพื่อกรุยทางให้สินค้าไทยผงาดในตลาดโลกในฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะ “ยุโรป–สหรัฐ” ทั้งนี้ เมื่อรวมทั้ง 2 บริษัท กินตลาดเกือบทั่วโลก
**รีแบรนด์สู่“บริษัทไทยที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก”
นอกจากนี้ จะสังเกตเห็นว่า ระหว่างกระบวนการยุติธรรม ของ “บอส วรยุทธ์” ดำเนินไป
ในปี 2560 กลุ่มธุรกิจทีพีซี ได้“เขย่าโครงสร้าง” ใหม่ จากเดิมใช้บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด เป็นหัวหอกเคลื่อนธุรกิจ มาเป็นการรวม 4 เสาหลัก ทั้งบ.ผลิต บ.เดอเบล จัดจำหน่ายกระจายสินค้า บ.ขยายตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ และบ.เครื่องดื่มกระทิงแดง ที่ทำการตลาด ไปอยู่ใต้ชายคา “กลุ่มธุรกิจทีซีพี” (TCP) วางองค์กรให้เป็นบ้านของแบรนด์สินค้า(House of brand) และมีเป้าหมายจะผลักดันให้ “บริษัทไทยที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก”
โดยตั้งเป้ายอดขายต้องโต 3 เท่าตัว แตะ 1 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2561 ยอดขายกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท
อีกข้อที่น่าตั้งข้อสังเกตคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจเป็นได้หรือไม่ว่า ทายาทไม่ต้องการเห็นผลกระทบจากอุบัติเหตุ ที่อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ลามกระทบ “ธุรกิจครอบครัว” จึงพลิกภาพองค์กร ไม่ใช้สโลแกนเดิม “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน”
อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ สร้างการจดจำสโลแกนต้องใช้เวลา ดังนั้น กี่นักการตลาด กี่งบประมาณที่ทุ่มเทเพื่อสร้างภาพจำใหม่ ยังไม่เห็นผลโดยง่าย จึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารต้องแก้เกม กอบกู้กันต่อไป
วิกฤติที่ตระกูล “อยู่วิทยา” และ “ธุรกิจครอบครัว” กำลังเผชิญ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ยังส่อแววภาพความสัมพันธ์ของพี่น้องอยู่ในสถานะ “เลือดข้นคนจาง”