“เอไอเอ” รุกธุรกิจ “กองทุนรวม” ดันตั้ง บลจ.เอไอเอ เริ่มดำเนินการวันนี้ เผยเข้าบริหารพอร์ตลงทุนเอไอเอกว่า 8 แสนล้าน ดัน “เอยูเอ็ม” ขึ้นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมทันที เดินหน้าวางแผนทางการเงินกลุ่มลูกค้าประกันยูนิตลิงค์ ขณะ วงการบลจ. ยอมรับเจอศึกหนัก เหตุ
รายงานข่าวเอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัว บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการขอใบอนุญาตใหม่จาก ก.ล.ต. คาดว่า จะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันนี้(3 ส.ค.) และจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 10 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ นายสุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง เข้ามารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เอไอเอ จากเดิมที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน เอไอเอ ประเทศไทย บริหารเงินลงทุนระดับ 800,000 ล้านบาทนับว่าเป็นเม็ดเงินลงทุนมากที่สุดในระบบธุรกิจประกันชีวิต
โดย บลจ. เอไอเอ จะทำหน้าที่หลัก คือ บริหารพอร์ตลงทุนของเอไอเอทั้งหมด ซึ่งจะผลักดันให้ บลจ. เอไอเอ จะเป็นบลจ. ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) กว่า 800,000ล้านบาท ทันที และในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ จะมุ่งเน้นทางด้านการวางแผนทางการเงินให้กับผู้ถือกรมธรรม์ประกันควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ของเอไอเอก่อน ล่าสุด เตรียมเปิดกองทุนรวมใหม่ สำหรับประกันยูนิตลิงค์ของเอไอเออีกด้วย
ขณะที่ในวงการธุรกิจบลจ. กำลังจับตาแผนธุรกิจที่ชัดเจนของบลจ. น้องใหม่รายนี้ ซึ่งมี ”จุดแข็ง”เป็นที่รับรู้กันดี ทำให้ บลจ. พี่ๆกังวล นั่นคือ “ความสามารถในการแข่งขันของคนขาย” ด้วยทัพตัวแทนอิสระของเอไอเอ ที่มีใบอนุญาตขายกองทุนกว่าหมื่นคน มีความเชี่ยวชาญในการขายกองทุนรวมอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีบริการหลังการขายที่ดีเยี่ยม เรียกได้ว่า ตัวแทนอิสระบางคน เหนือว่า พนักงานแบงก์ด้วยซ้ำ
ทำให้ จุดนี้ “แบงก์” ที่เป็นช่องทางขายหลักในการขายกองทุนอยู่แล้ว คงต้องกลับมาพิจารณาบริการหลังการขาย เป็นจุดแรก
อีกเรื่องคือ “การเข้ามาขยายฐานลูกค้าใหม่” ที่เริ่มจากฐานลูกค้าประกันของเอไอเอที่มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง หากกลุ่มนี้ยังไม่เคยลงทุนในกองทุนรวมมาก่อนจำนวนมากเช่นกัน ด้วยฐานลูกค้าเอไอเอที่เป็นกลุ่มมั่งคั่งมีอยู่มาก พร้อมจะยอมเอาเงินเป็นหลักแสนมาลงทุนในกองทุนเป็นระยะเวลา 10-20 ปี
ในขณะที่ฐานลูกค้าแบงก์ ตอนนี้ส่วนใหญ่จะมีกองทุนในมือครบอยู่แล้ว แม้กลุ่มลูกค้าคงไม่ได้ชนกันตรงๆ กับแบงก์ เพราะ ลูกค้าแบงก์ มีพฤติกรรมการรับบริการแบบ 0ne stop service จากที่เดียวทั้งสินเชื่อ เงินฝาก ประกันและกองทุน ทำให้จุดนี้อยู่ที่ว่า ใครขยับ ไปหาลูกค้าใหม่ๆ ได้ก่อนกัน
ส่วนการออกกองทุนรวมใหม่ๆ ในวงการบลจ. ประเมินว่า ในภาวะเช่นนี้ คงเป็นการออกกองทั่วไป เช่น หุ้นไทย ตราสารหนี้ หรือกองทุนที่เอาไปผูกกับประกันยูนิตลิงค์ ซึ่งตอนนี้มีหลายบลจ. ที่กำลังมีดีลกับประกันยูนิตลิงค์ของเอไอเอ ขอชะลอดีลไปก่อนเพื่อรอดูความชัดเจนของธุรกิจ บลจ. เอไอเอ และประกันยูนิตลิงค์ของเอไอเอที่เลือกทำกับบลจ. อื่นไปแล้วจะเปลี่ยนแผนหรือไม่