โอซีเอ หรือ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ยืนยันเชื่อมั่นในศักยภาพประเทศไทย จะไม่เลื่อนจัดการแข่งขันเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 63 ที่ห้อง 217 ราชมังคลากีฬาสถาน กกท. นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เป็นประธานในการประชุมเตรียมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 โดยมี นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ( โอซีเอ ), พล.ร.อ.สุรวุฒิ มหารมณ์ ที่ปรึกษาการจัดการแข่งขัน และคณะกรรมการเข้าร่วม
ประธานแจ้งว่า เนื่องจากการแข่งขันกำหนดเอาไว้ระหว่างวันที่ 21-30 พฤษภาคม ปีหน้า ซึ่งเหลือเวลาเตรียมการเพียง 9 เดือนเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเท่าที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติมา ที่สำคัญงบประมาณและแผนงานต่างๆ ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่ต้องเดินหน้าเตรียมการไปก่อน เพราะไม่สามารถปล่อยให้เวลาเสียไปได้ ส่วนจำนวนนักกีฬาทั้ง 31 ชนิดกีฬา (ชิงเหรียญ 29 กีฬา สาธิต 2 กีฬา) นั้น เมื่อพิจารณาตามอีเวนต์ ทั้ง 290 อีเวนต์แล้ว จะมีนักกีฬามาร่วมแข่งขันถึง 11,000-12,000 คน ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับรายการนี้ที่ผ่านมาทั้ง 5 ครั้ง จึงต้องมาหาทางออกกันว่าจะต้องรับมืออย่างไร นอกจากนั้นยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องสนามแข่งขัน สนามฝึกซ้อม ที่ยังไม่มีการกำหนดอย่างแน่ชัด รวมทั้งงบประมาณในการซ่อมแซมที่ยังไม่แน่นอน
ด้านนายชัยภักดิ์ แจ้งว่า ได้ร่วมประชุมผ่านทางวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ กับ โอซีเอ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 อย่างแน่นอน แม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพราะโอซีเอมองว่าปลายปีนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะออกมาให้ได้ใช้แน่นอน และมั่นใจว่าไทยจะทำหน้าที่เจ้าภาพได้ดีเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ที่จะจัดการแข่งขันในช่วงที่กำหนดไว้ เพราะจะมีนักกีฬาต่างชาติมาแข่งขันจำนวนมาก ถ้ากระทรวงสาธารณสุขให้เลื่อนก็ต้องแจ้งกับทางโอซีเอให้หาวันเวลาแข่งใหม่
- เอเชียนอินดอร์ เริ่มลงตัว จัดเเน่นอน 29 กีฬา ใช้ 15 สังเวียนชิงชัย
“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งใจว่าจะใช้มหกรรมนี้ในการเรียกความมั่นใจจากทั่วโลกว่า ไทยจัดการแข่งขันแบบที่ไม่เสี่ยงต่อโควิด-19 เพราะเป็นกีฬาระดับนานาชาติรายการแรกที่ไทยจะจัดหลังเจอโควิด-19 ระบาด” นายชัยภักดิ์กล่าว
พล.ร.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า มหกรรมนี้เป็นงานที่ยากมากของไทย เพราะมีเวลาเตรียมตัวน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ขาดว่าเกมอย่างซีเกมส์จะต้องมีเวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 18 เดือน ดังนั้นจึงต้องเร่งทำทุกขั้นตอน เรื่องที่เป็นห่วงมากกว่าเวลาในการเตรียมตัว คือ จำนวนนักกีฬาที่เยอะมาก และกีฬาประเภททีมที่เยอะเกินไป ถ้าหลายชาติจะส่งแข่งขันกีฬาประเภททีมกันเยอะ จะมีปัญหาเรื่องที่พักและช่วงเวลาในการแข่งขันที่ไม่สามารถจบได้ตามกำหนด และต้องจัดแข่งขันล่วงหน้าก่อนพิธีเปิดหลายวัน ที่สำคัญถ้าพิจารณาตามที่คาดการณ์กันไว้ อาจจะต้องใช้ห้องพัก 6,000 ห้อง แบ่งเป็นที่กรุงเทพมหานคร 3,000 ห้อง และ จ.ชลบุรี 3,000 ห้อง จะสามารถเตรียมการทันหรือไม่ งบประมาณเป็นอย่างไร เพราะเวลากระชั้นชิดมาก
“ถ้าชาติต่างๆ ส่งทีมเข้าแข่งมาก จะทำอย่างไร จะคัดจากแรงกิ้งหรือจัดรอบคัดเลือก ซึ่งรอบคัดเลือกคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลาบีบมาก และตอนนี้ยังเดินทางแข่งขันต่างประเทศไม่ได้ เรื่องนี้ต้องดูกันให้ดี ถ้าปล่อยให้แข่งกันทุกชาติก็คงเจ๊ง” พล.ร.อ.สุรวุฒิกล่าว