เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา – กรมเจ้าท่า ร่วมเมืองพัทยา จัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนครั้งสุดท้ายก่อนจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือเกาะล้านให้มีความพร้อมรับ EEC เสนอ สผ.พิจารณา ชี้ศักยภาพต้องเป็นได้ทั้งเรือโดยสาร-ขนส่ง -ท่องเที่ยว
วันนี้ (5 ส.ค.) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธาน การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือหน้าบ้าน ชุมชนเกาะล้านเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา โดยมี นายบัลลังก์ เมี่ยงบัว วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมเจ้าท่า พร้อมตัวแทนสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 หรือ อพท.3 ,บริษัทที่ปรึกษาโครงการ และตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม
นายบัลลัง เมี่ยงบัว วิศวกรชำนาญการ กรมเจ้าท่า เผยว่าแต่เดิม สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 หรื อพท.3 ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการสำรวจออกแบบโครงสร้างสะพานท่าเทียบเรือหน้าบ้าน ชุมชนเกาะล้าน ขึ้นใหม่ หลังมองว่าเกาะล้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ดูจากสถิติและปริมาณของนักท่องเที่ยวแล้วพบว่ามีไม่น้อยกว่า 1.5-1.7 หมื่นคนต่อวัน หรือกว่า 5-6 ล้านคนต่อปี
โดยเฉพาะในในช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือว่าสามารถสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก
จึงเล็งเห็นว่าสะพานท่าเทียบเรือเดิมบริเวณหน้าบ้าน เป็นสะพานที่ผ่านการใช้งานมานาน อีกทั้งการขนส่งสินค้าและการเทียบท่าของเรือโดยสารที่มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 6,000-7,000 คนต่อวัน ทำให้มีสะพานเกิดการชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก ทั้งด้านโครงสร้างของตัวสะพานและความคับแคบ ซึ่งเป็นปัญหาด้านความปลอดภัย
ดังนั้นการออกแบบที่วางไว้ใหม่ จะเป็นการก่อสร้างสะพานรูปตัว T ขนาดความยาว 218 เมตร กว้าง 14 เมตร พร้อมราวเกาะเพื่อความปลอดภัย ซึ่งท่าจอดเรือจะสามารถรองรับเรือขนาดเล็กและใหญ่ที่จะจอดได้จำนวน 6-8 ลำต่อครั้ง
“ แต่ด้วยสะพานที่ออกแบบไว้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558 มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 4,000 ตารางเมตร จึงเข้าข่ายมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และด้วยเหตุนี้ อพท.จึงได้ถ่ายโอนงบประมาณให้กับกรมเจ้าท่า ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโดยตรงในการจัดทำแผนต่อเนื่อง” นายบัลลัง กล่าว
สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในเรื่องของแบบแปลนและผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อมของการจัดทำโครงการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเป็นครั้งที่ 2 และถือว่าครั้งสุดท้าย ก่อนจะทำการปรับปรุงแก้ไขเพื่อส่งรายละเอียดไปสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.พิจารณาต่อไป
โดยคาดว่าหากผ่านความเห็นชอบก็จะต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างกว่า 30 เดือนจึงจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เผยว่าเกาะล้าน สามารถสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับเมืองพัทยา สูงเป็น 1 ใน 3 จากยอดรวมของนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่า 15 ล้านคนต่อปี โดยสามารถทำรายได้มากกว่า 2.4 แสนล้านบาทต่อปี
ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคในการรองรับหรือท่าเทียบเรือที่มีให้บริการกลับมีแค่เพียง 2 แห่ง คือ ท่าหน้าบ้าน และท่าเทียบเรือหาดตาแหวน โดยสะพานบริเวณท่าหน้าบ้าน ผ่านการใช้งานมานานและมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โครงการพัฒนาท่าเรือโดยสาร-ขนส่งฯ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานอื่นๆให้ความสำคัญในการสนับสนุนและช่วยเหลือ
โดยเฉพาะการออกแบบในการปรับปรุงและแผนในการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นท่าเรือมาตรฐานที่เพิ่มความสะดวกสบายและเพิ่มศักยภาพในการเดินทางท่องเที่ยวและขนส่งสมกับเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของ EEC ในอนาคตต่อไป