ขณะที่ทั่วโลก ยังคงเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” โดยยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ปัญหาเรื่องสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ หากแต่เศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกเองก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน หลายภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบอย่างทั่วหน้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 นี้
หลายธุรกิจก็มีความพยายามในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ บ้างก็อาจจะประสบความสำเร็จจากการปรับตัว แต่บางรายปรับตัวแล้วก็อาจจะยังไปไม่รอด
อย่างไรก็ตาม ในผลการศึกษาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2563 ชี้ให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีในไทย จะเพิ่มมูลค่า 35,000-41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ภายในปี 2567 และสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม หลังการระบาดของโควิด-19 ได้
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน เปิดเผยว่า การศึกษาดังกล่าวนี้ได้อ้างอิงข้อมูลมาจากการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนินการโดยไอดีซี โดยได้รับมอบหมายจากซิสโก้
และผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลมากกว่า จะได้รับประโยชน์สองเท่าในแง่ของรายได้และผลผลิต เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่สนใจในเรื่องการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วนถึง 85.5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดในไทย และยังสร้างมูลค่าให้จีดีพีสูงถึง 43 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้เอง เอสเอ็มอีจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตหลังวิกฤตโควิด
นายวัตสันกล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาที่อ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอี ชี้ว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของเอสเอ็มอีในไทยมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล เพื่อสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่แปลกใหม่
ขณะที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจเอสเอ็มอี ตระหนักว่าคู่แข่งกำลังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล และพวกเขาต้องก้าวตามให้ทัน โดย 23 เปอร์เซ็นต์กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเพราะลูกค้าต้องการ
นายวัตสันกล่าวว่า เอสเอ็มอีถือว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 แต่กระนั้นก็ตาม เอสเอ็มอีเหล่านี้ก็ยังมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์
ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เราเห็นอย่างมากในช่วงโควิด ก็คือ การที่เอสเอ็มอีมีการปรับตัวใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาด
ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมและข้อจำกัดบางอย่าง และผู้บริโภคเองเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติอีกครั้ง การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของเอสเอ็มอี จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูธุรกิจ และจะช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของไทย
ซึ่งซิสโก้เองมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอี ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยอาศัยโซลูชั่นดิจิทัลและกลยุทธ์ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ผลการศึกษาระบุว่าการจัดซื้อหรืออัพเกรดซอฟต์แวร์ไอทีเป็นการลงทุนที่เอสเอ็มอีไทยให้ความสำคัญมากที่สุด คือ 20 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยการจัดซื้อและอัพเกรดฮาร์ดแวร์ไอทีที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และการลงทุนในคลาวด์ที่ 11 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลนั้น อันดับแรก ที่มีสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ คือการขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลและการเข้าถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และ 18 เปอร์เซ็นต์ คือการไม่มีโรดแมปในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล และ 15 เปอร์เซ็นต์ คือการขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น
จะเห็นได้ว่าเรื่องงบประมาณถือเป็นปัญหาที่มีอัตราส่วน “ต่ำสุด” แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องกังวลลำดับต้นๆ ของเอสเอ็มอี
นายวัตสันกล่าวด้วยว่า ทางซิสโก้เองได้มีโครงการพิเศษสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถลงทุนด้านเทคโนโลยี ช่วยปรับเปลี่ยนธุรกิจให้รองรับดิจิทัลมากขึ้น ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 ปี จาก Cisco Capital ซึ่งนายวัตสันกล่าวว่า ซิสโก้ต้องการช่วยดลภาระของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แทนที่จะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ทีเดียว ก็สามารถกระจายจ่ายได้ในช่วงเวลา 3 ปี การที่เอสเอ็มอีไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ทีเดียวน่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้บ้าง ในการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดีขึ้น
ที่สุดแล้ว หากโควิด-19 ยังคงระบาดหนักอย่างนี้ต่อไป สถานการณ์การทรุดตัวทางเศรษฐกิจอาจจะยืดเยื้อออกไปอีก เพราะฉะนั้นการรู้จักปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการทั้งหลาย ไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่
และเทคโนโลยีก็น่าจะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ ที่มาช่วยทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้