ส่องโลกโซเชียล 6 เดือนแรกปีนี้ พบแบรนด์ และธุรกิจแห่ใช้โซเชียลมีเดีย สร้างเอนเกจเมนต์ ยอดโพสต์ 4 โซเชียล ทะลุกว่า ล้าน โพสต์ เฟซบุ๊กยังนำโด่ง
Wisesight ส่องโลกโซเชียล ถึงภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียของแบรนด์ในครึ่งปีแรก 2563 พบว่า การโพสต์บน 4 แพลตฟอร์ม คือ เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และ ยูทูป มีจำนวนโพสต์จากแบรนด์รวมกันทั้งสิ้น 1,064,226 โพสต์ โดยที่ เฟซบุ๊ก ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสาร
ทั้งนี้พบว่า เฟซบุ๊ก มีจำนวนการโพสต์จากแบรนด์ และธุรกิจใน 6 เดือนแรกของปีนี้ รวม 8 แสนโพสต์ จำนวนเอนเกจเมนท์ 554 ล้าน ตามด้วย ทวิตเตอร์ ที่มีจำนวนการทวิต 1.35 แสนทวิต ยอดเอนเกจเมนท์ 30 ล้าน ขณะที่อินสตาแกรม ยอดโพสต์ 1.11 แสนโพสต์ จำนวนเอนเกจเมนท์ 35 ล้าน และยูทูป 1.8 หมื่นคอนเทนต์ ยอดวิว 5,100 ล้านวิว
จะเห็นได้ว่า แต่ละโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมหาศาล
เมื่อโฟกัสไปที่แพลตฟอร์ม ที่สร้างการมีส่วนร่วมสูง อย่าง เฟซบุ๊ก และ ยูทูป พบว่า เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคอย่างก้าวกระโดด ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ช่วงเวลากักตัวหรือ โควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคหันมาเสพเนื้อหาบนออนไลน์มากขึ้น และโซเชียลมีเดีย ก็มีผลกระทบอย่างมาก ต่อธุรกิจเกือบทุกประเภท
ธุรกิจรุ่ง-ร่วงในโซเชียลมีเดีย หลังโควิดระบาดในไทย
หลังจาก โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้น คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การใช้ชีวิตแบบ New normal ทำให้ยอดการใช้งานโซเชียลมีเดียพุ่งสูงขึ้น จนทั้งผู้ใช้งาน และผู้ประกอบการอย่างแบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับช่องทางนี้
จากการเก็บข้อมูลเอนเกจเมนต์ของแบรนด์ ที่ทำผลงานบนโซเชียลมีเดีย ผ่านช่องทางหลัก คือ เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และ ยูทูป ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2020 พบว่า สามารถแบ่งประเภทของธุรกิจเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ประเภทแรก RISE & DECLINE
กลุ่มธุรกิจที่รุ่งขึ้นมา ในช่วงการระบาดของ โควิด-19 และร่วงในภายหลัง โดยจำนวนเอนเกจเมนต์ มีการเติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงต่อมา ได้แก่
ธนาคาร จากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทที่มีธนาคารกรุงไทย เป็นผู้จัดการระบบลงทะเบียน รับเงินเยียวยา
คอนวีเนียนสโตร์ จัดทำคอนเทนต์ให้กำลังใจ และโปรโมชั่นสินค้าผ่าน #คนไทยไม่ทิ้งกัน
ไฮเปอร์มาร์เก็ต และ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่พยายามจัดโปรโมชั่น ผ่านการซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงโควิด
- ประเภทที่สอง RISING STAR
กลุ่มธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง ที่เอนเกจเมนต์มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 กลุ่มธุรกิจประเภทนี้ ได้แก่
ผู้บริการจัดส่งสินค้า เนื่องจากการต้องปฏิบัติตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่ แทน และ แบรนด์เองก็มีการปล่อยโปรโมชั่นร่วมกับร้านอาหาร ขณะที่บริการรับส่งพัสดุ ก็มียอดเอนเกจเมนต์สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องระบบการขนส่ง
เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์บ้าน-สำนักงาน เนื่องจากการปรับการเรียนการสอน รวมถึงวิธีการทำงานผ่านทางออนไลน์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงาน และเป็นเสมือนอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นขณะนี้
อี-มาร์เก็ตเพลส นับตั้งแต่ โควิด-19 ระบาดในประเทศ ผู้คนต้องอยู่บ้าน หรือ Work From Home ธุรกิจการซื้อขายออนไลน์จึงเข้ามาตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี หลาย ๆ แพลตฟอร์มออนไลน์มียอดเอนเกจเมนต์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ ลาซาด้าและช้อปปี้
- ประเภทที่สาม RECESSING
กลุ่มธุรกิจที่ร่วงโดยมี เอนเกจเมนต์ ลดลงภายหลังเกิดการระบาด โควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ธุรกิจร้านอาหาร และ ช้อปปิ้งมอลล์ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์ ทำให้ฝั่งแบรนด์ชะลอการปล่อยแคมเปญทางสื่อออนไลน์ ยอดเอนเกจเมนต์จึงมีแนวโน้มลดลง
ยกเว้นกรณีที่แบรนด์นั้นมีการทำ บริการจัดส่ง อย่าง เคเอฟซี ที่ยังมียอดเอนเกจเมนต์สูงอยู่ตลอด รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจ ก่อสร้างและออกแบบ ที่ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากความตั้งใจในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลงในช่วง โควิด-19 ระบาด
นอกเหนือจากกลุ่มแบรนด์ข้างต้นแล้ว กลุ่มภาครัฐ (Government & State enterprise) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีการเติบโตของ เอนเกจเมนต์ที่สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยเอนเกจเมนต์เพิ่มขึ้น 235% เมื่อเทียบระหว่าง เดือนมกราคมและเดือนมิถุนายน การเติบโตของจำนวนเอนเกจเมนต์ดังกล่าว หลักๆ มาจากการแถลงการณ์สถานการณ์ โควิด-19 รายงานข่าว ความคืบหน้าผลการสอบสวนและควบคุมโรค และความรู้เกี่ยวกับเรื่อง โควิด-19
คอนเทนต์โควิด-19 มีมากน้อยเท่าไหร่ใน เฟซบุ๊ก
จากการเก็บข้อมูลของ WISESIGHT พบว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน แบรนด์มีการโพสต์คอนเทนต์ที่กล่าวถึง โควิด-19 ทั้งหมดประมาณ 45,000 โพสต์ โดยการโพสต์สูงสุดอยู่ในช่วงเดือนเมษายนประมาณ 16,000 โพสต์ และเริ่มลดลงในเดือนต่อมา
ทั้งนี้พบว่า 25% ของคอนเทนต์ถูกโพสต์จากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ เพจสสส. (ThaiHealth) และ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการรายงานสถานการณ์ โควิด-19 ประจำประเทศไทย
รองลงมาคือคอนเทนต์จากกลุ่มเพจ โรงพยาบาล ที่เน้นเรื่องการให้ความรู้และความเข้าใจ ในโรคโควิด แก่ประชาชนและ ช้อปปิ้งมอลล์ ที่ประชาสัมพันธ์เรื่องการให้บริการของห้างสรรพสินค้า ขณะที่จำนวนเอนเกจเมนต์รวมจากคอนเทนต์เหล่านี้มีมากถึง 36 ล้าน และมีจำนวนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม แม้ว่าในเดือนนี้ จะมีจำนวนคอนเทนต์ที่น้อยกว่าเดือนเมษายนก็ตาม
โพสต์ที่ได้รับเอนเกตเมนต์สูงที่สุด
โพสต์ส่วนใหญ่ที่ได้รับเอนเกจเมนต์สูง จะเป็นโพสต์ที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการโรค โควิด-19 โดยโพสจาก สสส. เรื่อง การลงชุมชนให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเสี่ยง สำหรับต้นแบบชุดเครื่องมือดูแลตนเอง “สู้! โควิด-19 ไปด้วยกัน” เป็นโพสต์ที่ได้ เอนเกจเมนต์ สูงที่สุด รองลงมาคือ รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 และ เซเว่นอีเลฟเว่น มอบชุด PPE ให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์
คนไทย SAD ลดลงและกลับมา HAHA เพิ่มขึ้น
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แบรนด์มีการโพสต์คอนเทนต์ ที่เกี่ยวกับโรคระบาดนี้ถี่ขึ้น และผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ก็มีการตอบกลับคอนเทนต์เหล่านี้ด้วยปุ่ม Love และ Sad มากขึ้นเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายน ที่มียอดการกด Love และ Sad สูงที่สุด คอนเทนต์ส่วนใหญ่ มักเป็นการให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือ ผู้ที่เดือดร้อนจากฝั่งของแบรนด์
ภายหลังที่สถานการณ์ในประเทศไทยคลี่คลาย จำนวนการกด Love และ Sad ลดลง และในทางตรงกันข้าม การตอบกลับคอนเทนต์ด้วย อีโมชั่นไอคอน อื่นๆ เริ่มมีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่คุ้นชิน และปรับตัวได้กับสถานการณ์นี้ ซึ่งในฝั่งของแบรนด์เอง ก็เริ่มมีการปล่อยคอนเทนต์อื่นๆ นอกเหนือจาก โควิด-19 มากขึ้นด้วย เช่น การปล่อยแคมเปญและการจัดโปรโมชั่น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปิดโผ 10 แบรนด์ บนโซเชียลมีเดีย ที่ทำผลงานสูงสุด ครึ่งปีแรก 2563
- ‘ไวซ์ไซท์’ เปิดโผรางวัล ‘Thailand Zocial Awards 2020’ ที่สุดบนโลกโซเชียล
- คุยผ่าน ‘โซเชียล’ พุ่งปีละ 7.2 พันล้านข้อความ ‘ไวซ์ไซท์’ จับ 6 กระแสแรง
Add Friend Follow